เป็นประจำทุกปีของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ “ลูกประดู่แดง” พร้อมด้วยเหล่าภาคีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะมาพบปะสังสรรค์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบการสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้ชื่องาน “61 ปี มจพ. นวัตกรรมก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรม” ประเดิมแรกเริ่มงานของช่วงเช้าด้วยพิธีตักบาตร พิธีน้อมรำลึกถึง “ทวาปูชนียาจารย์” ต่อด้วยภาคบ่ายกับพิธีประกาศเกียรติคุณ “บุคคลเกียรติยศ มจพ.” พร้อมการบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศ ตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยฯ 20 ปี” โดย ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. ก่อนจะ ปิดท้ายค่ำคืนที่ลานเฉลิมพระเกียรติ มจพ. เฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ตระการตาด้วยงานเลี้ยงสังสรรค์ การประกาศเกียรติคุณและมอบโล่แก่บุคคลเกียรติยศ “คนดีศรีแผ่นดิน ศิษย์เก่าดีเด่น และผู้มีอุปการคุณ” 7 ตอกย้ำความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีเกียรติประวัติอันยาวนาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิชาการชั้นสูงที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไปจนถึงระดับปริญญาเอก อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสามารถรั้งอันดับ TOP 10 มหาวิทยาลัยไทยและยังคงติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยยอดเยี่ยมของโลก ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. เปิดเผยว่า ปีนี้ มจพ. จัดทำคอนเซ็ปต์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่จะเดินไปในอีก 20 ปี ข้างหน้า (2561-2580) “นวัตกรรมก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรม” ในการเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้อุตสาหกรรมทั่วโลกยอมรับ ด้วยปัจจุบัน มจพ. มีหลักสูตรการเรียนการสอนมากกว่า 90% เป็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติ และเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยโจทย์หลังจากนี้ มจพ. จะผลิตบัณฑิตให้ทันกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ซึ่งได้มองไปที่เรื่องของการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นสำคัญ และจะต้องสอดคล้องกับทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือที่เรียกว่า “S-Curve” ไม่ว่าจะเป็นสาขาในด้านดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ โรโบติกส์ ระบบราง เป็นต้น ขณะที่เรื่องงานวิจัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปีของ มจพ. ย้ำว่าต้องเป็นโจทย์โดยตรงมาจากภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ โดยเอางานวิจัยเป็นตัวตั้ง ทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และนำนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานวิจัย โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยพัฒนาทั้งบุคลากร นักศึกษา ได้ตัวงานวิจัย ยังตอบโจทย์ให้อุตสาหกรรมได้นำไปประยุกต์ใช้ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หรือโมเดลใหม่ๆ ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างยั่งยืน “สาขาส่วนใหญ่ปรับไปตามยุทธศาสตร์ ซึ่งมองเป้าหมายของรัฐบาลเป็นหลัก ที่ยกระดับและทำให้เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องกล ไฟฟ้า ธุรกิจอุตสาหกรรม มีการบูรณาการให้เป็นศาสตร์ใหม่ เป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อยกระดับเรื่องงานวิจัย เรามีหลักสูตรที่ดีไซน์เป็นหลักสูตร 3+1 สองปริญญา หรือ หลักสูตรร่วม (Double/Joint Degree) ร่วมกับมหาวิทยาเครือข่ายในเยอรมัน และฝรั่งเศส ซึ่งขณะนี้มีถึง 4 หลักสูตรที่ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเยอรมันและฝรั่งเศส” สำหรับปีนี้ ก็มีหลักสูตรร่วมระดับปริญญาโทที่เปิดใหม่ เกี่ยวกับด้านระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้ร่วมกับ จุฬาฯ และ ม.อาเค่น (RWTH Aachen University) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รวมถึงมีหลักสูตรพัฒนาระบบรางร่วมกับมหาวิทยาลัย Central South University (CSU) สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระดับปริญญาตรี ซึ่งทั้งสองถือว่าเป็นหลักสูตรสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะรับเข้าในปีการศึกษา 2563 ที่จะถึงนี้ด้วย “แนวโน้มของเรา จะมีหลักสูตรร่วมมากขึ้น เป็นไปตามที่เราต้องการโดยพัฒนาตัวนักศึกษา ให้มีวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกับชาวต่างชาติตั้งแต่ตอนเรียน เป็นการพัฒนาบุคลากรด้วย และอีกเป้าหมายอย่างหนึ่งซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของมหาวิทยาลัย สู่การเป็นที่ยอมรับในภาคอุตสาหกรรม โดยจะปรับหลักสูตรให้ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีการดีไซน์หลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตามลักษณะของ S-Curve” ศ.ดร.สุชาติ กล่าวทิ้งท้าย