ไทยได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นจากดัชนีการจัดอันดับการคุ้มครองสัตว์ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางวาระที่ควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม
ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในกลุ่ม 50 ประเทศทั่วโลกตามการจัดอันดับของ ดัชนีการจัดอันดับการคุ้มครองสัตว์ (Animal Protection Index: API) ประจำปี พ.ศ. 2563 ที่จัดทำโดย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในด้านการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ระดับโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ระดับ D ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์ ชิลี เกาหลีใต้ โรมาเนีย รัสเซีย ฯลฯ โดยมีเกณฑ์การวัดระดับการจัดอันดับประเทศ โดยกำหนดให้อันดับ A มีคะแนนสูงสุด ถึงอันดับ G มีคะแนนน้อยสุด ตามรูปแบบของนโยบายและเนื้อหาทางกฎหมาย
นับตั้งแต่ที่องค์กรฯ เริ่มทำการสำรวจดัชนีฯ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสัตว์ในวงกว้าง อาทิ พระราชบัญญัติการป้องกันการทารุณสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งถูกประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 และถือเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการจัดการเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์มาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงกฎหมายการทารุณกรรมสัตว์เป็นสิ่งต้องห้ามในมาตรา 17 พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 พร้อมข้อกำหนดการขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษสำหรับการซื้อขายงาช้าง นอกจากนี้พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ขั้นตอนการใช้สัตว์เพื่อจุดประสงค์ด้านวิทยาศาสตร์ของไทยสอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ถูกจัดอยู่ในอันดับ B ในหัวข้อการคุ้มครองสัตว์ที่ใช้เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตามการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และพรบ. การคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ ยังมีช่องว่างและข้อจำกัด ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองสัตว์ได้อย่างทั่วถึง อาทิ ประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม การอนุญาตให้ตัดหางหมู รวมถึงการใช้สัตว์เพื่อการทดลองก็ได้รับการยกเว้น ยิ่งไปกว่านั้น กิจกรรมที่แสดงการต่อสู้ของสัตว์ยังได้รับการอนุญาตทางกฎหมายอีกด้วย
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมองว่า ประเทศไทยควรได้รับการยกย่องให้เป็น “ต้นแบบ” เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ได้ปฏิบัติตามในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในทุกหน่วยงานที่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ นอกจากนี้องค์กรที่ทำงานด้านการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ได้มีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกของคณะกรรมการต่อต้านการทารุณสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมการดำเนินงานด้านสัตว์เพื่อวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ (CSPA) ซึ่งอุทิศให้กับการใช้สัตว์เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์
นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “องค์กรฯ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางรัฐบาลไทยนานกว่าหนึ่งทศวรรษ ในการเสริมสร้างให้กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เพื่อการปรับปรุงสวัสดิภาพของสัตว์ทั่วประเทศดีขึ้น รวมถึงเราได้ทำการรณรงค์เพื่อร่วมเรียกร้องไม่ให้สัตว์ป่าเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดจนเสนอให้ยุติการค้าเนื้อสุนัขและการทารุณกรรมสัตว์ ผ่านการจัดกิจกรรมร่วมกับภาครัฐบาลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับอีกหลายมาตราที่ต้องปรับปรุงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยต้องคำนึงถึงหลักด้านสวัสดิภาพสัตว์ เช่น สัตว์ในฟาร์ม ซึ่งประเด็นนี้สาธารณชนได้ให้ความสนใจมาก โดยเมื่อปี พ. ศ. 2561 เราได้ทำการสำรวจและพบว่า “สวัสดิภาพสัตว์” เป็นหนึ่งในปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคชาวไทยใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อหมู นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้บริโภคต้องการเนื้อหมูจากแหล่งที่มีสวัสดิภาพสัตว์สูง รวมถึงต้องการให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตเลือกผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่มีคุณภาพและมีสวัสดิภาพสัตว์สูงมาวางจำหน่าย เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะให้รายละเอียดที่ชัดเจนเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกำหนดด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งครอบคลุมถึงการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม การดูแลสัตว์ป่าที่ถูกกักขัง รวมถึงการจัดการประชากรสัตว์จรจัดอย่างเหมาะสมมากขึ้น"
ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดตัวภาพยนตร์สั้นสะเทือนอารมณ์ที่สะท้อนถึงปัญหาการทารุณสัตว์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ภายใต้แคมเปญ “Does the life of an animal mean nothing at all ?” มีความยาว 60 วินาที เพื่อนำเสนอถึงหลายๆ สถานการณ์ที่เราไม่สามารถปกป้องสัตว์ได้ เพื่อให้ผู้ชมได้ลองย้อนถามตัวเองว่า “ชีวิตของสัตว์ไม่มีความหมายอะไรเลยหรือ?” ซึ่งเป็นคำถามที่องค์กรฯ ต้องการถามรัฐบาล เพราะในปัจจุบันหลายประเทศยังขาดนโยบายการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th และค้นหารายงานดัชนีการจัดอันดับการคุ้มครองสัตว์ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2563 เพิ่มเติมได้ทาง https://api.worldanimalprotection.org/country/thailand