สุวัจน์” มองวิกฤต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง นิว นอร์มอล
“สุวัจน์” มองวิกฤต เศรษฐกิจ สังคม การเมือง นิว นอร์มอล
“นิว นอร์มอล ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ การปรับยุทธศาสตร์ทางด้านการลงทุนด้านไอทีให้ทันสมัย ครอบคลุม ง่ายต่อการเข้าถึงจึงจำเป็นมากต่อการสร้างนิว นอร์มอลทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ”
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา วิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลกระทบวิกฤตและโอกาส รวมถึงการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ และสถานการณ์การเมืองในมุมมองที่น่าสนใจดังนี้
มองเห็นอะไรเป็นโอกาสของเมืองไทยในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้
สุวัจน์ บอกว่า ฝรั่งมีคำพูดว่า “Blessing In Disguise”หรือพรสวรรค์หรืออะไรดีๆ ที่ถูกปิดบังเอาไว้ ผมว่าท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ ผมเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรก เป็นผลพลอยได้จากสถานการณ์โควิดที่เราสามารถรักษาระดับของผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตต่ำมากๆ จนมีเสียงชื่มชมจากคนต่างประเทศ เป็นมุมมองใหม่ๆ ที่เขาเห็นไทยเป็นเมืองสุขภาพ เป็นเมืองที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่เราสามารถขยายผลให้เป็นจุดขายทางเศรษฐกิจ ใช้จุดแข็งจากการที่เราได้ชื่อว่า เป็นเมืองไร้โรคระบาด ปลอดภัยมีสุขอนามัยที่ดี มาทำให้ไทยเป็น World health care เป็น Wellness Hub หรือศูนย์กลางบริการทางด้านสุขภาพของโลกที่ใครๆ ก็นึกถึง เพราะจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ผมมองว่าจากนี้ไปใครจะไปลงทุนที่ไหน จะมีเรื่องความปลอดภัยจากโรคระบาดเข้ามามีส่วนสำคัญของการตัดสินใจในการลงทุน และความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานตัวใหม่ที่นักลงทุนทั่วโลกจะใช้พิจารณา นอกเหนือไปจากโครงสร้างพื้นที่ที่เป็นระบบขนส่งต่างๆ ทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟ สนามบิน หรือแม้แต่ 5G ที่สำคัญอาวุธใหม่นี้ยังจะเป็นการดึงดูดนักลงทุนในระยะยาวที่เข้ามาเสริมมาตรการทางด้านภาษีที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ทำอยู่ได้เลย
เรื่องที่สอง คือ การท่องเที่ยว ผมยังมั่นใจในศักยภาพเรื่องนี้ เพราะก่อนโควิด แม้เศรษฐกิจถดถอย เจอกับเรื่องสงครางทางการค้า อย่างอื่นติดลบหมด แต่ท่องเที่ยวยังบวกอยู่ ดังนั้น เมื่อหมดโควิด เศรษฐกิจฟื้นตัว การเดินทางการท่องเที่ยวจะต้องกลับมา แต่สิ่งสำคัญเราต้องเพิ่มจุดขายใหม่ๆ จากที่เคยขายว่า เมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว สวยงาม มีโอท็อป มีภาคบริการที่พร้อม แต่วันนี้จำเป็นต้องใช้จุดแข็งด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้มาใช้เป็นโอกาสเพราะความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจะไม่ใช่เพียงแค่ตัดสินใจว่า มาแล้วไม่ถูกวิ่งราว ไม่ถูกปล้นจี้ หรือทำร้ายร่างกายอีกแล้ว แต่จากนี้ไปความปลอดภัยจะหมายถึง ความสะอาด ปลอดภัยจากโรคระบาด เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยมีระบบแพทย์เข้มแข็งรองรับ
ผมมองย้อนหลังกลับไปในวันที่สึนามิพัดเข้าประเทศ เมื่อปี 2547 หรือ 16 ปีที่แล้ว วันนั้นวิตกกันมากว่า ภูเก็ตจะฟื้นกลับมาได้อย่างไร แต่เวลาผ่านไปคนไปเที่ยวภูเก็ตเพิ่มขึ้นมา 5 เท่าแล้ว เพราะแม้สึนามิจะรุนแรง แต่คนไทยสามารถใช้วิกฤตเป็นโอกาสดึงสึนามิ มาเป็นจุดขายให้ภูเก็ตได้ จากภาพที่คนไทยไปช่วยนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีเตียงก็ถอดประตูบ้านทำเป็นเตียงเพื่อไปช่วยคนเจ็บ ใครที่ติดอยู่ในตึกก็เข้าไปช่วย ภาพนี้ถูกรายงานข่าวไปทั่วโลก จนไปปรากฏอยู่ในหนังเรื่อง The Impossible ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งทำให้คนรู้จักภูเก็ต อยากมาเที่ยว เที่ยวนี้ผมมองว่าเหมือนกัน สิ่งที่คนไทยแสดงน้ำใจ แม้ว่าไม่ได้แสดงต่อคนต่างชาติ แต่การมีน้ำใจกับมาตรการของรัฐ เสียสละช่วยกันจนทำให้เกิดความเข้มแข็งทางด้านระบบสาธารณสุขขึ้น น้ำใจของคนไทยสามารถครีเอตสิ่งดีๆ ที่ทำให้คนทั่วโลกอยากมาเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
ยิ่งผลพลอยได้จากโควิดนอกจากเราจะมีโซเชียลดิสแทนซิ่งกันระหว่างคนกับคนแล้ว เรายังมีโซเชียลดิสแทนซิ่งกับธรรมชาติด้วย จนวันนี้ฟ้าสวย ทะเลใส จนได้เห็นการมากลับมาของธรรมชาติ ฝูงพะยูนมาว่ายน้ำให้เห็น หากสามารถใช้โอกาสนี้วางแผนระบบท่องเที่ยวใหม่ ให้มีโซเซียลดิสแทนซิ่งระหว่างคนกับธรรมชาติ อาจกลายเป็นอีกจุดขายหนึ่ง ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบไฮเอนด์ที่มีกำลังซื้อมาเสริม ผสมผสานสร้างโอกาสอย่างมหาศาลให้กับธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้กับประเทศ
เรื่องที่สาม คือ อาหาร ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด ไม่ได้ยินเลยว่า คนอดเลย แม้รายได้จะลด แต่ก็มีน้ำใจช่วยนำอาหารมาแบ่งปันกัน นี่สะท้อนว่าประเทศไทยยังสมบูรณ์ และอาหารเป็นสินค้าประเภทเดียวเท่านั้นที่มียอดการส่งออกเพิ่ม ตัวเลขจากดัชนีการผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม บอกว่า ท่ามกลางวิกฤตอุตสาหกรรมอาหารจะมีการขยายตัว เพราะปัญหาโควิดอาหารเป็นที่ต้องการมาก เมื่อประเทศไทยเป็นมหาอำนาจภาคการผลิต ด้านการเกษตร เป็นชาติที่เป็นศูนย์กลางอาหารของโลกอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องสร้างคาแร็กเตอร์ใหม่ให้กับเมืองไทยอย่างจริงจัง ต้องใช้ในเรื่องของเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องของการผลิตเพื่อแปรรูป ใช้การตลาดทำให้ความอุดมสมบูรณ์จากอาหารเป็นจุดขาย
หลังโควิดสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม
วันนี้ เราพูดถึงเรื่องนิว นอร์มอล (New Normal) หรือความปกติใหม่ที่จะเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างช่วงโควิด ได้มีมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม (WFH) สนับสนุนให้คนทำงานที่บ้าน เพื่อลดการแออัด เท่าที่ผมพูดคุยกับผู้ประกอบการในธุรกิจใหญ่ๆ รวมไปถึงสถาบันทางการเงิน เชื่อได้เลยว่าหลังโควิด WFH จะได้ไปต่อ เพราะทุกคนบอกเลยว่า ประสิทธิภาพของการทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮมไม่ได้น้อยลงไปเลย เพราะทำให้คนมีเวลามากขึ้น ไม่ต้องเดินทาง ประหยัดเวลา รถไม่ติด สิ่งแวดล้อมไม่เสีย ชีวิตมีเวลาอยู่ในฟิตเนสได้ออกกำลังกาย สร้างครอบครัวให้อบอุ่น กลับมาอยู่พร้อมๆ หน้ากัน ที่สำคัญยังทำให้คนมีโอกาสได้แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต เมื่อรูปแบบหรือพฤติกรรมเปลี่ยน ต่อไปรูปแบบการจ้างงานอาจเปลี่ยนไปด้วย เพราะระบบเทคโนโลยี ไอที ออนไลน์ต่างๆ ทำให้เราทำงานได้ จากเวิร์กฟรอมโฮม ในอนาคตพ้นโควิดไปแล้ว อาจจะเป็น Work At Home เลยก็ได้
สิ่งเหล่านี้จะทำให้พฤติกรรมการเลือกที่พักอาศัยเปลี่ยนไปด้วย จากที่จำเป็นต้องอยู่กลางเมือง อยู่คอนโด ที่พักอาศัยใกล้ที่ทำงาน แต่พอเวิร์กฟรอมโฮมแล้ว คนก็อาจมีความรู้สึกอยู่รอบนอกก็ได้ซื้อบ้านชานเมือง โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสร้างไว้ ทั้งระบบรถไฟฟ้าทุกสายที่พุ่งทะยานออกไปจาก กทม. หรือมอเตอร์เวย์สายต่างๆ จะกระจายให้คนออกไปข้างนอกมากขึ้น ขณะที่อาหารการกิน แต่ก่อนต้องไปเอง แต่เดี๋ยวนี้อยู่บ้านเวิร์กฟรอมโฮมก็สั่งได้ ทุกอย่างมาในรูปแบบออนไลน์หมด ฉะนั้น ท่ามกลางนิว นอร์มอล ที่กำลังจะเกิดขึ้น และโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะสร้างเมืองไทยให้เป็นเมืองสาธารณสุข สร้างเมืองไทยให้เป็นเมืองอาหาร เมืองท่องเที่ยว ทั้งหมดจะอยู่บนพื้นฐานของความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอที ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์ทางด้านการลงทุนทางด้านไอทีให้ทันสมัย ครอบคลุม และง่ายต่อการเข้าถึงได้ จึงจำเป็นมากต่อการสร้างนิว นอร์มอล ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
คิดว่าการเมืองควรมีนิว นอร์มอล ด้วยหรือไม่
ต้องมีเหมือนกัน การเมืองต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน แต่ก่อนเราอาจต้องพบปะพี่น้องประชาชนผ่านการลงพื้นที่ หรืออาศัยเวทีสภา แต่วันนี้ระบบออนไลน์ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากภาคการเมืองมากขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่การเมืองต้องคิดต่อ จากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดนั้น เป็นเพราะการสื่อสารที่ดีกับประชาชน ให้ข้อเท็จจริง จนทำให้เกิดความร่วมมืออย่างดี ดังนั้น การเมืองต้องพยายามสร้าง New Normal ด้วยการยึดพื้นฐานของการสร้างข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องที่สุด เพื่อให้การเมืองได้รับการยอมรับ ผมคิดว่าวันนี้การเมืองจำเป็นต้องเห็นบริบทของประเทศว่า เราต้องชนะให้ได้ทั้งยักษ์โควิด กับยักษ์เศรษฐกิจ ดังนั้น ความร่วมมือกันจึงสำคัญมาก การเมืองต้องใจกว้างที่จะให้กำลังใจกัน เรามีโซเชียลดิสแทนซิ่งสำหรับโควิด แต่ในการเมืองผมคิดว่า เราจำเป็นต้องมี “โพลิติกดิสแทนซิ่ง” หรือระยะห่างทางการเมืองที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน
โพลิติกดิสแทนซิ่ง นี่ต้องห่างกันระดับไหน
ผมคิดว่า ที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านมีระยะห่างกันมากเกินไป วันนี้เราจำเป็นต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม อยู่ในระยะที่ส่งสายตากันพูดกันได้ เพื่อความเข้าใจในการทำงาน เวลารัฐบาลทำอะไรดีๆ ฝ่ายค้านให้การสนับสนุน หรือห่างกันแค่ไหนที่เวลาฝ่ายค้านส่งเสียงออกมาแล้วรัฐบาลได้ยิน เพื่อรักษาดุลยภาพในน้ำใจไมตรีเพื่อให้การเมืองทำงานได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีระยะห่างที่เหมาะสมในการรักษาดุลยภาพ ไม่ได้ใกล้ชิดกันจนขาดการตรวจสอบรัฐบาล ถ้าการเมืองมีภาพความเข้าใจที่ตรงกันก็อาจจะเป็น New Normal ที่ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขกับการเมืองไทยก็ได้จะเห็นว่า ตอนนี้มีข่าวว่ารัฐบาลได้เดินสายพบกลุ่มธุรกิจ พบกับภาคเอกชนตามสมาคมต่างๆ เพราะต้องการฟังว่า มุมมอง แนวคิดในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่อยากให้รัฐบาลทำ
ดังนั้น มุมมองและข้อเสนอแนะจากสภา ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะทุกคนคือตัวแทนของประชาชน การเปิดสภาคราวนี้ น่าจะเอาโอกาสของการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ เป็นเวทีในการนำเสนอข้อเท็จจริงซึ่งกันและกัน เล่าให้ฝ่ายค้านฟังเลยว่าใน พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับที่ออกมา รัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ถ่ายทอดให้พี่น้องประชาชนได้รับฟัง ฝ่ายค้านฟังได้ยินก็สามารถบอกรัฐบาลได้ทันทีว่าไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลใด กลัวว่าจะรั่วไหลเรื่องไหน แล้วมีข้อเสนอแนะอะไรที่อยากจะบอกกับรัฐบาล ถ้าบรรยากาศแบบนี้ มีข้อเสนอแนะ ชี้แจงอย่างสร้างสรรค์จะเป็นบรรยากาศที่ดีในการรักษาระยะที่เหมาะสมของการอยู่ร่วมกันเพราะวิกฤตนี้ถือว่ายิ่งใหญ่ นักการเมืองที่อยู่ในช่วงนี้ต้องบอกกับตัวเองเลยว่ากำลังอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ จากปัญหาที่เป็นวิกฤตใหญ่ของโลกที่ได้เข้ามีส่วนในการแก้ไข และจะถูกบันทึกไว้ในโอกาสที่ครั้งหนึ่งได้เข้ามาทำงานทางการเมือง
วันนี้รัฐบาลส่งสัญญาณคลายล็อกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับๆ
ผมว่า วันนี้เรากำลังปล้ำอยู่กับยักษ์ 2 ตัวที่มาพร้อมกัน ตัวแรกเป็น เป็นยักษ์เรื่องชีวิต อีกตัวเป็นยักษ์เรื่องปากท้อง ระหว่างชีวิตกับปากท้อง หากมาพร้อมๆ กัน คนเราก็ต้องเลือกชีวิตมาก่อน เอาชีวิตให้รอด พออยู่ได้ถึงมาแก้ปัญหาปากท้อง ดังนั้น วันนี้กำลังแก้ปัญหาของประเทศ โดยแบ่งการแก้ไขปัญหาเป็น 3 เฟส เฟสแรก มุ่งจัดการเรื่องชีวิตโดยเฉพาะ คนไทยต้องปลอดภัย รัฐบาลวางมาตรการไว้ค่อนข้างจะเข้มข้น เหมือนการล็อกดาวน์ประเทศ ขอความร่วมมือให้ประชาชน สวมหน้ากาก ล้างมือ มีโซเชียล ดิสแทนซิ่ง รักษาระยะห่างทางสังคม ปิดจังหวัดไม่เดินทางข้ามเขต เข้มงวดกวดขันเรื่องธุรกิจ สถานบริการ ร้านอาหารต่างๆ เพื่อควบคุม ไม่ให้ตัวเลขติดเชื้อมากขึ้น ไม่ให้มีการเสียชีวิต และปิดประเทศควบคุมไม่ให้มีการนำโรคภัยไข้เจ็บจากต่างประเทศเข้าประเทศ
แต่ขณะเดียวกันในเฟสแรก รัฐบาลก็ไม่ได้มุ่งรักษาชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อจัดกับยักษ์เรื่องปากท้อง ด้วยการออก พ.ร.ก.วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อรับซื้อตราสารหนี้ และมีการปล่อยซอฟต์โลน รวมกันเกือบ 9 แสนล้านบาท และได้นำเงิน 6 แสนบาทใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาเยียวยา และรักษาชีวิตของผู้ว่างงานกว่า 16 ล้านคน ตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน เดือนละ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน ช่วยเหลือเกษตรกร ครอบครัวละ 15,000 บาท ถึง 9-10 ล้านครอบครัว และประกันสังคมอีก 12 ล้านคน รวมแล้วประมาณ 38 ล้านคน ทั้งหมดเป็นเรื่องการดำเนินการในเฟสแรก
วันนี้เข้าสู่เฟสที่ 2 ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเริ่มคลายล็อก มีการผ่อนผันให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราควบคุมสถานการณ์โควิดได้ดี พอจะต้องคลายล็อกก็ต้องรอบคอบ ไทม์มิ่งต้องเหมาะสม เหมือนการออกสตาร์ตวิ่ง 100 เมตร หากออกสตาร์ตเร็วไปก็จะทำให้ฟาวล์ ออกสตาร์ตช้าเกินก็ไม่ถึงเส้นชัย ดังนั้น คลายแล้วผู้ติดเชื้อระลอกสองต้องไม่มี คลายแล้วสามารถกอบกู้เศรษฐกิจได้ เพราะไม่พอดี ช้าไปเศรษฐกิจอาจจะเสียหายมากจนกว่าจะดึงกลับมาได้