192 องค์กรทั่วโลกเสนอนายกฯ เร่งยุติผสมพันธุ์ช้างชั่วคราว ลดปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ แก้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไม่ยั่งยืน
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) พร้อมด้วยองค์กรด้านสัตว์และการอนุรักษ์รวม 192 องค์กรทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ร่วมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอให้ออกมาตรการเร่งด่วนยุติการผสมพันธุ์ช้างชั่วคราวในประเทศไทย เพื่อบรรเทาปัญหาสวัสดิภาพช้างและความไม่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมีปัจจัยสำคัญคือผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมหากไม่รีบแก้ไข
ในจดหมายเปิดผนึกเผยถึงจำนวนช้างไทยที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา จาก 1,644 เชือกในปี พ.ศ. 2553 เป็น 2,779 เชือกในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์
โดยประเมินว่าค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมากกว่า 28 ล้านบาทต่อเดือน และอีกราว 28 ล้านบาทสำหรับเงินเดือนของควาญช้างและผู้ดูแล ซึ่งภาระเหล่านี้ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการดูแล สวัสดิภาพช้างที่อาจไม่ครอบคลุมอย่างทั่วถึงและเพียงพอ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ธุรกิจท่องเที่ยวมักได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ เสมอ
นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “ขณะนี้ปางช้างต่างๆ ต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้ช้างจำนวนมากถูกส่งกลับบ้านไปให้เจ้าของดูแล ซึ่งปกติเวลาช้างถูกส่งกลับบ้าน เจ้าของมักจะถือโอกาสนี้ผสมพันธุ์ช้างเพื่อหวังรายได้จากการขายลูกช้างในอนาคต เราจึงมีความกังวลว่าเจ้าของช้างจะยังผสมพันธุ์ช้างต่อไปท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งอาจจะทำให้เกิด ‘เบบี้บูม’ ของช้างตามมาในอนาคตอันใกล้ได้ สวนทางกับสถานการณ์ปัจจุบันที่แนวโน้มการท่องเที่ยวและทรัพยากรสำหรับการดูแลช้างกำลังถดถอยลงเรื่อยๆ”
192 องค์กรที่ร่วมลงนามพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าอีก 10 คน ยืนยันว่าสถานที่ท่องเที่ยวไม่ใช่พื้นที่เหมาะสมสำหรับช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีความเฉลียวฉลาด มีขนาดและพละกำลังสูง การผสมพันธุ์ช้างเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มีประโยชน์ด้านการอนุรักษ์แต่อย่างใด และการที่ช้างในประเทศไทยต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีความเปราะบางถือเป็นแนวทางการจัดการที่ไม่มีความยั่งยืน ดังนั้น การยุติการผสมพันธุ์ช้างชั่วคราวนอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพช้างในอนาคตแล้ว ยังได้ช่วยจัดสรรความช่วยเหลือให้ช้างไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงมากขึ้น
นอกจากนี้ เนื้อหาส่วนหนึ่งในจดหมายเปิดผนึกเผยถึง ผลกระทบจากวิกฤตนี้ที่เกิดขึ้นกับควาญช้าง โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ามากกว่าหนึ่งในสามของควาญช้างในประเทศไทยยังต้องพึ่งพาค่าแรง ขั้นต่ำ ไม่มีเงินออม และการดูแลช้าง ซี่งเป็นสัตว์ที่ยังมีสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่า มีความเฉลียวฉลาดและพละกำลังสูง ทำให้ควาญเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตในบางกรณี
“ตั้งแต่เกิดโควิด-19 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเงินฉุกเฉินเบื้องต้น เพื่อช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ของช้างและควาญช้างจำนวนหนึ่งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย กล่าวคือเราลงมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในภาวะวิกฤตไปพร้อมๆ กับการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระยะยาว เราเชื่อเสมอและขอเน้นย้ำว่าสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง พวกเขาสมควรได้อยู่ในป่า” นางสาวโรจนากล่าวปิดท้าย
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเชิญชวนผู้ที่สนใจสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการ “สัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง” ได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th/take-action/wildlife-not-entertainers
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th