รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า ด้วยปัญหาภาวะสุขภาพของประชาชน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยี และการมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ปัญหาสุขภาพและความเจ็บป่วยเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น และมีความยุ่งยากซับซ้อน ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายสูงมากในระบบสุขภาพ บุคลากรด้านสุขภาพขาดแคลน และมีความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง การป้องกันและการจัดการกับปัญหาสุขภาพที่มีความซับซ้อนและการขยายโอกาสเข้าถึงบริการที่ได้คุณภาพ จึงต้องการบุคลากรสุขภาพที่มีความสามารถในการให้บริการและการจัดระบบบริการที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าใช้จ่าย สภาการพยาบาลจึงได้กำหนดนโยบายกำลังคนในทีมการพยาบาล ซึ่งระดับการปฏิบัติงานของพยาบาลมีตั้งแต่พื้นฐานจนถึงขั้นเชี่ยวชาญตามระดับของระบบบริการด้านสุขภาพ และความต้องการการดูแลของผู้ใช้บริการที่มีตั้งแต่ระดับไม่ซับซ้อน จนถึงระดับที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ดังนั้นเพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพของพยาบาลวิชาชีพได้อย่างเต็มที่ในการให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประชาชน จึงจำเป็นต้องมีทีมการพยาบาลที่ผสมผสานทักษะ สภาการพยาบาลจึงได้กำหนดให้ในทีมผสมผสานทักษะ ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล และพนักงานให้การดูแล (Nurses’ aides/ Care givers) สำหรับกลุ่มพนักงานให้การดูแล (Nurses’ aides/ Care givers) เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมาตรฐานและเป็นการประกันคุณภาพ รวมถึงคุ้มครองทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการ สภาการพยาบาลได้จัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล มีระยะเวลาในการฝึกอบรม 6 เดือน ซึ่งพนักงานให้การดูแล จะมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการดูแลบุคคลที่ช่วยเหลือตนเองได้บ้างบางส่วนในเรื่องเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ สุขวิทยาส่วนบุคคล การให้อาหาร การเคลื่อนไหวร่างกาย การพักผ่อนนอนหลับ การดูแลความปลอดภัย และความสุขสบาย ฯลฯ รวมทั้งการดูแลความสะอาดและความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม โดยการดูแลนั้นเป็นการทำงานร่วมกับญาติ และเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง สามารถปฏิบัติงานทั้งในโรงพยาบาล บ้าน ชุมชน สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานบริการสุขภาพอื่น ๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของพยาบาลวิชาชีพ ทำงานภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลหรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ปัจจุบันกลุ่มพนักงานให้การดูแล (Nurses’ aides/ Care givers) ทั่วประเทศ มีประมาณ 40,000 คน ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามสถานบริการสุขภาพต่าง ๆ โดยบางส่วนได้รับการฝึกอบรมระยะสั้น ๆ มาบ้าง บางส่วน on the job training ไม่ได้ผ่านหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบุคลากรกลุ่มนี้มีความรู้ ความสามารถ ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สภาการพยาบาลจึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งองค์กรรับรองสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ อาชีพพนักงานให้การดูแล (Nurses’ aides/ Care givers) ขึ้น เพื่อให้พนักงานให้การดูแลที่ปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบัน สามารถสมัครเข้ารับการประเมินสมรรถนะการเป็นพนักงานให้การดูแล และได้การรับรองความรู้ ความสามารถ สมรรถนะและทักษะในการทำงานตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพพนักงานให้การดูแลได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค