“กรมหม่อนไหม” ดันธุรกิจหม่อนไหมไทยยุค New Normal รุกจัดงาน “เส้นทางสายไหม เส้นใหม่ใหญ่กว่าเดิม”
เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ณ ห้องบอลรูม โรงแรม Centara Grand at Central Plaza Ladprao กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำผู้บริหารองค์กร (CEO) เจรจาจับคู่ธุรกิจผู้ประกอบการหม่อนไหม จัดงานส่งเสริมการรวมกลุ่ม เพื่อส่งเสริมการแปรรูป นำเสนอจำหน่ายผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาด “เส้นทางสายไหม เส้นใหม่ใหญ่กว่าเดิม” The New Silk Road Network โดยมี นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานฯ ร่วมด้วยนายสันติ กลึงกลางดอน และนางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม พร้อมด้วย นายพิชัย เชื้องาน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมธุรกิจหม่อนไหม ตลอดจนผู้บริหารและที่ปรึกษา องค์กร รวมถึงแขกผู้เกียรติร่วมงานคับคั่ง
ทั้งนี้ ท่านวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม ได้กล่าวเปิดงานฯ ว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในการเปิด โครงการส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการแปรรูปการ นำเสนอจำหน่ายผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาด “เส้นทางสายไหม เส้นใหม่ใหญ่กว่าเดิม” ในวันนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคนที่มีโอกาสได้เข้ามาร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมหม่อนไหมของไทยมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีและเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหม่อนไหมได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และเห็นทิศทางเศรษฐกิจหม่อนไหมไทยยุค New Normal จากวิทยากรผู้ทรงเกียรติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน รองคณบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ และประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ และเครื่องตกแต่งวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ อาจารย์ อภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้า อสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร กรรมการที่ปรึกษาสมาคมการค้าเศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อยางพาราและเกษตรไทย คุณปฐม ยงวณิชย์ Managing Director, PYI Consulting เสวนาในหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจ หม่อนไหมไทย ยุค New Normal และยังมีการแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทย โดย Miss Tourism World Thailand พร้อมทั้งกล่าวขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ทำให้โครงการของกรมหม่อนไหมในครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้ด้วยดี และเชื่อมั่นว่าการจัดโครงการในครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ด้าน นายพิชัย เชื้องาน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมธุรกิจหม่อนไหมกล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการผลิตผ้าไหมไทยและมีการส่งเสริมด้านตลาด อาทิ หาตลาดแหล่งใหญ่ให้กับผู้ค้าผ้าไหมได้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพสินค้าออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด ก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน และการสนับสนุนเส้นไหมจากท้องถิ่นเป็นการกระจายรายได้สู่กลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรสามารถสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการ ทำให้ผลผลิตที่ได้มีราคาเพิ่มมากขึ้น สามารถสู้กับวิกฤตและผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่างๆ ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ล้วนเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินโครงการมุ่งเน้นสร้างคุณค่า ชูจุดเด่นไหมไทย เพื่อผลักดันไหมไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อันจะส่งผลต่อการสร้างงานและกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนไทยในภาคเกษตรกรรม และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว