สถานการณ์การเกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและคนสู่สัตว์ นับเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการสันนิษฐานว่า เชื้อพาหนะอาจมาจากสัตว์ที่ส่งต่อมาสู่คน ซึ่งคร่าชีวิตคนทั่วโลกหลายแสนราย โรคพิษสุนัขบ้า ที่ยังคงเป็นหนึ่งใน โรคระบาดที่สำคัญในหลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนสูงสุดในปี 2523 ที่มีผู้เสียชีวิต 370 ราย และลดลงจนในบางปีเหลือน้อยกว่า 10 รายต่อปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2562) มีผู้เสียชีวิต 5, 5, 14, 11, 18 และ 3 ราย ตามลำดับ ส่วนปี 2563 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 5 ส.ค.63) พบผู้เสียชีวิต 2 ราย ในจังหวัดสระแก้ว และหนองคาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) จึงได้จับมือร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานปศุสัตว์ศรีสะเกษ และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ ในการดำเนินการจัดโครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าและโรคอื่นๆ ที่สำคัญแก่ครูและเจ้าหน้าที่ ด้านการศึกษากว่า 300 คน ในทุกอำเภอของจังหวัดศรีสะเกษ ในโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและโรคติดเชื้อที่แพร่กระจายได้ในสถานศึกษา จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายสมชัย คล้ายทับทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดโครงการ ณ ห้องประชุม OTOP องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายสัตวแพทย์นัทธ์เวโรจน์ บูชาพัฒน์ ปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ กล่าววัตถุประสงค์ถึงการจัดอบรมใน ครั้งนี้ว่า “เรื่องโรคสัตว์สู่คนเป็นปัญหาสำคัญกับชาวศรีสะเกษ โรคที่มาสู่คนส่วนใหญ่ก็มาจากสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม หรือจากแมลง การเฝ้าระวังจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดูแล โดยเฉพาะกับนักเรียนในเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า เพราะเด็กส่วนใหญ่มีความใกล้ชิดกับสัตว์เหล่านี้โดยไม่ระมัดระวัง ซึ่งคุณครูมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะเป็นผู้อบรมชี้แนะทักษะความรู้เหล่านี้ให้กับนักเรียนได้ เพราะมีความใกล้ชิดมากกว่า การอบรมในโครงการนี้จึงเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องมาสร้างองค์ความรู้ให้กับคุณครูซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันให้กับตัวเองแล้ว ยังส่งต่อไปยังชุมชนและในวงกว้างได้ด้วยเช่นกัน” นอกจากการให้ความรู้ในการเฝ้าระวังเรื่องโรคติดต่อสัตว์สู่คนแล้ว การสร้างความเข้าใจในเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน สัตวแพทย์หญิงชนัดดา เครือประดับ จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “การสร้างความเข้าใจในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์เป็นสิ่งจำเป็น สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก ต้องการการดูแลเอาใจใส่ไม่ต่างจากคน และต้องการอิสระในการแสดงออกถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติแตกต่างออกไปตามแต่ละชนิดของสัตว์ สวัสดิภาพที่ดีส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพกายและใจที่ดี ในทางตรงข้ามหากสัตว์ไม่ได้รับสวัสดิภาพที่ดีก็จะเกิดความเครียด และเกิดโรคได้ง่าย ท้ายที่สุดโรคเหล่านั้นก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน สิ่งเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้การปลูกจิตสำนึกให้เป็นผู้เลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบก็มีความสำคัญเช่นกัน ก่อนจะตัดสินใจเลี้ยงสัตว์สักตัว ควรมั่นใจว่าเราจะสามารถเลี้ยงและดูแลพวกเขาไปตลอดชีวิตได้ เพื่อจะไม่เป็นปัญหาและภาระของตนเองรวมถึงสังคมในอนาคต โครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการ Life’s Better with Dogs ซึ่งองค์กรฯ ต้องการสร้างความตระหนักให้คนในสังคมดูแลสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและปลอดภัย เรามองว่าสถานศึกษา มีความใกล้ชิดกับชุมชน โดยครู 1 ท่าน สามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับไปสู่นักเรียนซึ่งเป็นอนาคตของชาตินับพันนับหมื่นคน ดังนั้นการฝึกอบรมในครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” นอกจากนี้องค์กรฯ ยังได้ร่วมขับเคลื่อนทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชนในการดำเนินการจัดการปัญหา โรคพิษสุนัขบ้า โดยล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาองค์กรฯ ได้มีการมอบวัคซีน 11,500 เข็มให้กับกรมปศุสัตว์ เพื่อช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัดทั่วประเทศ รวมถึงจัดทำคู่มือฝึกอบรมอาสาปศุสัตว์อีกเป็นจำนวน 10,000 เล่ม ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ภายใต้โครงการ Life’s Better With Dogs ที่ได้รับการสนับสนุนผ่านกิจกรรมสื่อโซเซียล 1 รายชื่อ 1 วัคซีน ในการสร้างความตะหนักให้กับคนในสังคมในการดูแลสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทยจึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการ Life’s Better With Dogs 1 รายชื่อ 1 วัคซีน ได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th/BetterWithDogs