วันที่ 21 กันยายน 2563 เวลา 08.30 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร อาคาร 3 ชั้น 3 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร (Herbal Business Consultation Center:HBCC) นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และตามประกาศคณะกรรมการ นโยบายสมุนไพรแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งเสริมผู้ประกอบการ พ.ศ. 2563 ข้อ 10 กำหนดให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจมีภารกิจจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพรขึ้นเป็นหน่วยงานภายในของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการรับแจ้ง และรับรองการเป็นผู้ประกอบการผลิตสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเป็นหน่วยกลาง ดำเนินการให้การส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการผลิตสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร จัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ผลิตสมุนไพร และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ตลอดจนดำเนินการให้คำปรึกษาและการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านคุณภาพการผลิตในการจัดการ และการตลาด ความร่วมมือกันของผู้ประกอบการ กับภาคธุรกิจ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร การอบรมพัฒนาศักยภาพในการประกอบกิจการด้านสมุนไพรและการส่งเสริมหรือความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ทางด้าน ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กล่าวว่า ทางศูนย์ได้ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน อย่างเช่น ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการอย่างน้อย 20 ครั้ง/ปี โดยเน้น ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากสมุนไพร และด้านการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร จัดอบรมยกระดับผู้ประกอบการแบบเข้มข้นและออนไลน์อย่างน้อย 3 ครั้ง/ปี ซึ่งที่ผ่านมา มีการอบรมเจาะลึกรูปแบบสมุนไพรไทยสู่ตลาดจีน อบรม “โอกาสทางการค้าในบาห์เรนและอาหรับ ขุมทรัพย์ใหม่สมุนไพรไทย” และอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสมุนไพรด้านการตลาดยุคดิจิทัล (ออนไลน์) การส่งเสริมภาพลักษณ์ทางการตลาด ได้แก่ประชาสัมพันธ์รูปแบบ Online ภายในประเทศและต่างประเทศ ประชาสัมพันธ์รูปแบบ Offline เช่น การจับคู่เจรจาธุรกิจการค้า ออกบูธจำหน่ายสินค้า และ คัดเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท เปิดศูนย์ให้ข้อมูลผู้ประกอบการสมุนไพร (One stop service) อย่างเช่น แคตตาล็อกงานวิจัย แคตตาล็อกวัตถุดิบ แคตตาล็อกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยคุณภาพ รายชื่อโรงงานที่รับ OEM และ พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ซึ่งตั้งเป้าผู้ประกอบการได้รับสิทธิส่งเสริมการประกอบการอย่างน้อย 500 ราย ซึ่ง นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาผู้ประกอบการสมุนไพรของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยพัฒนาสมุนไพรไทยที่ตรงกับความต้องการของตลาด ต่อไป