"PUBAT" เปิดตัวเว็บแอปฯ "Noกองดอง"แอปอวดอ่าน ตั้งเป้าสร้างนิสัยรักการอ่าน 1 ล้านคน "Noกองดอง" แอปอวดอ่าน นวัตกรรมส่งเสริมการอ่านยุคโควิด19
"PUBAT" เปิดตัวเว็บแอปฯ "Noกองดอง"แอปอวดอ่าน
ตั้งเป้าสร้างนิสัยรักการอ่าน 1 ล้านคน
"Noกองดอง" แอปอวดอ่าน นวัตกรรมส่งเสริมการอ่านรูปแบบใหม่ ที่สามารถเข้าถึงนักอ่านทุกคนในยุดิจิตอล กระตุ้นให้เกิดการอ่านอย่างยั่งยืนผ่านเว็บแอปฯ Nogongdong.com เฟสแรกเป้าหมาย 1 ล้านคน
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2536 ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายปิยะพงษ์ ศิริสุทธานันท์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้สัมภาษณ์ว่า "Noกองดอง" แอปอวดอ่าน เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างสรรคขึ้นมาสำหรับนักอ่านยุคใหม่ เพื่อกระตุ้นให้การอ่านของแต่ละคนมีชีวิตชีวาและอยากอ่านมากขึ้น ด้วยแรงจูงใจของฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น การบันทึกสถิติการอ่าน สะสมเหรียญรางวัล ร่วมแคมเปญสร้างสรรค์ และสามารถแชร์กิจกรรมลงโซเชียลมีเดียได้ ซึ่งจะทำให้ทัศนคติของการอ่านนั้น เป็นเรื่องท้าทายและสนุกสนาน เป็นชุมชนออนไลน์ที่เชื่อมโยงระหว่างนักอ่านด้วยกันเอง นักอ่านและร้านหนังสือ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่กำลังหาแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือ
"กองดอง" หมายความว่า เป็นหนังสือที่ซื้อไปแล้วไม่ได้อ่าน เอาไปกองสุมไว้ที่บ้าน เป็นกองเป็นตั้งแล้วไม่ได้อ่าน ผมก็คิดว่าให้คนหยิบหนังสือจากกองดองมาอ่านให้ได้ ทำให้มีกองดองในบ้าน เพราะหนังสือทุกเล่มผ่านการอ่านหมดแล้ว ก็ได้ไอเดียมาจากแอปออกกำลังกายที่กำลังมาแรง เป็นเทรนวิ่ง วิ่งลู่ วิ่งสนาม วิ่งมาราธอน จะมีการใช้แอปเข้ามาช่วยทำให้ตัวเองมีความตั้งใจในการออกกำลังกายมากขึ้น ผมเห็นมีการถ่ายรูปตัวเองในการวิ่งแชร์ตามโซเชียลต่างๆ ก็เกิดไอเดีย ที่จะมาทำเป็นการอ่านแทน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอ่าน ให้ชื่อว่า เว็บแอปพลิเคชั่น " Noกองดอง" บันทึกการอ่านและสร้างชุมชนการอ่านในยุคดิจิตอล
ส่วนการใช้งานของเว็บแอปฯ "Noกองดอง" นั้น ปิยะพงษ์ อธิบายว่า ทำได้ง่ายมากเพียงเปิดเว็บ "Nogongdong.com" เลือกหนังสือที่ต้องการอ่านเข้าชั้นหนังสือของตัวเอง ซึ่งอาจจะด้วยการสแกนบาร์โค้ดหรือกรอกรายละเอียดด้วยตัวเอง โดยสามารถเลือกได้ว่าเป็นหนังสือที่กำลังอ่าน หนังสือที่ดองอยู่ หนังสือที่เล็งไว้ หรืออ่านจบแล้ว ถ้าเป็นหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ในทุกครั้งที่เข้าไปอ่านสามารถตั้งเวลาท้าทายตัวเอง โดยเริ่มที่ 20 นาที 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง หลังจากอ่านครบเวลาแล้วจะถูกบันทึกสถิติและข้อมูลเอาไว้ทุกครั้งว่าใช้เวลาการอ่านเท่าไหร่ อ่านถึงหน้าไหน พร้อมได้รับแบดจ์ (Badge) สะสมไปตามที่แพลตฟอร์มกำหนด จากนั้นหากต้องการแบ่งปัน "โควทโดนๆ "ให้ชาวโลกรู้ ก็สามารถบันทึกเป็นรูปภาพหรือตัวหนังสือแชร์สู่โซเชียลมีเดียได้
"เรามีงานวิจัยหลายตัวสนับสนุนให้อ่านหนังสือ อย่างน้อย 20 นาทีต่อวัน อ่านแค่ 1 นาที 2 นาที มันไม่เกิดการพัฒนาทางสมอง ถ้าอ่านเป็นเวลานานครบ 20 นาที จะทำให้สมองเกิดการพัฒนามากขึ้นทำให้มีสมาธิ พอกดอ่าน 20 นาที ก็จะมีปุ่มบันทึกโหวตเป็นวลีเด็ด ที่เราได้อ่านมา 20 นาที เราเจอวลีเด็ดของใครบ้าง เจอประโยคทอง เจอวรรคทอง ที่น่าสนใจโดนใจเราพอพิมพ์เสร็จแล้วสามารถแชร์บนโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือไลน์ ก็ได้ ก็จะมีรูปหนังสือเรา ชื่อหนังสือเรา วรรคทองที่เราพิมพ์ลงไปก็โชว์ ให้เพื่อนๆเ ห็นได้เลย" ปิยะพงษ์ กล่าวและบอกว่า
"อยากให้ทุกคนช่วยการสร้างแรงกระตุ้น ให้เกิดเทรนรักการอ่าน เหมือนการออกกำลังกาย เป็นการกระตุ้นให้ตระหนักว่าการอ่านเป็นสิ่งที่ดีกับเรา เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งของสมาคมฯ ที่่ตั้งเป้าว่าจะสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับคนไทยทุกคนได้อ่านหนังสือกันประจำจนเป็นนิสัย"
สำหรับแผนการดำเนินงาน ปิยะพงษ์ บอกว่า ในปีแรกวางแผนไว้ 3 เฟส คือ เฟสแรก ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน เมื่อเราปล่อยให้ทดลองใช้ไปแล้วผมคิดว่าภายในปีนี้น่าจะมี Feedback กลับมาจากนักอ่านมากมาย และเราจะนำ Feedback อันนี้กลับไปปรับแก้ ผมคิดว่าภายในปีนี้ เราจะได้เฟสหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าผ่านเฟสหนึ่งไปแล้ว จะเริ่มเฟสสอง โดย ทางสมาคมฯ ได้ไปทำพันธมิตรกับทางมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการต่างๆ จะเอาตัวแอปพลิเคชันตัวนี้ ไปเชื่อมโยงกับหลายๆ องค์กรที่มีการทำ bookbub ในบริษัทอยู่แล้ว โดยให้พนักงานของบริษัทไปอ่านหนังสือก็จะ List หนังสือไว้ให้ว่าถ้าทำงานด้านนี้ เช่น การตลาด ก็จะมี List 10 เล่มนี้ บริษัทก็จะมี List อย่างนี้ และให้พนักงานของตัวเองเอาหนังสือเล่มนี้ไปอ่าน แล้วถ้าเรามีแอปนี้ก็จะไปผนวกกับบริษัท ทางบริษัทพออ่านแล้วก็บันทึกในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย เรามาแชร์กัน
ล่าสุด รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมี Class ที่ให้นักศึกษาต้องอ่านหนังสือก็พยายามเชื่อมต่อกับเรา ว่าจะนำแอปของเราไปเชื่อมผ่านต่อกับมหาวิทยาลัยอย่างไร
และเฟสสาม ก็จะเป็นระดับประเทศมากขึ้น จะไปไกลมาก เพราะเรามีตัวแทนคณะกรรมการที่ดูแลเกี่ยวกับหนังสือต่างประเทศ ฉะนั้น เราอาจจะขยายนอกจากประเทศไทยไปสู่อาเซียน
"ช่วงเปิดตัวเว็บแอปฯ Noกองดอง แอปอวดอ่านนี้ เพื่อสร้างการรับรู้จึงได้จัดกิจกรรมชาเลนจ์ 2020 ท้ากันอ่านผ่านแอปอวดอ่าน ให้นักอ่านได้ร่วมบันทึกสถิติการอ่านวันละ 20 นาทีเป็นระยะเวลา 20 วัน ใครที่อ่านได้มากที่สุดสะสมแบดจ์ได้ถึงจำนวนที่กำหนดได้ จะได้รับรางวัลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2563" กรรมการสมาคมฯ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ยังสามารถร่วมสนุกผ่านแอปอวดอ่านกับกิจกรรม "ภารกิจอ่านทลายกอง" ใน 3 จุดเช็คพ้อยท์ ได้แก่ 1.ปราสาทบัลลังก์ดอง 2.วิหารเทพเจ้าการอ่าน 3.ลานอ่านปราบมังกร ประทับตราให้ครบทั้ง 3 จุด โดยในจุดสุดท้ายหากเพิ่มหนังสือใส่เว็บแอป Noกองดอง จากการสแกนบาร์โค้ดของหนังสือที่โชว์อยู่รับเลยทันทีกระเป๋าผ้า"มาดองกัน" เพียง 1,000 ท่านแรกต่อวัน