เป็นเวลานานหลายปีที่ประเทศไทยครองแชมป์ส่งออกเนื้อไก่แปรรูปติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่แปรรูปอันดับหนึ่ง โดยคิดเป็นประมาณ 40% ของการผลิตเนื้อไก่ทั้งหมด โดยมีสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่นเป็นลูกค้าคนสำคัญ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถทำรายได้เข้าประเทศได้กว่าแสนล้านบาทในแต่ละปี ทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารและมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare ของอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย อย่างไรก็ตามได้มีบทความปรากฎขึ้นในสื่อออนไลน์ที่เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนำเสนอในประเด็นการบิดเบือนข้อมูลด้านสวัสดิภาพไก่และการชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรก นอกเขตสหภาพยุโรปที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ อีกทั้งประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกที่สำคัญของตลาดสัตว์ปีกโลก แต่หากพิจารณาสถานการณ์ตามความเป็นจริงทั้งหมดแล้วผู้เลี้ยงไก่ไม่ได้การันตีขั้นตอน การผลิต และการดูแลที่ดีเพื่อให้สัตว์มีความสุขเสมอไป เพราะข้อกำหนดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ของสหภาพยุโรป วัดเพียงมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น แต่ตัวชี้วัดมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ 4 ประเด็น ได้แก่ การใช้สายพันธุ์โตช้า การเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการแสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติ การปล่อยให้มีแสงจากธรรมชาติส่องเข้าถึงโรงเรือน และการควบคุมความหนาแน่นของประชากรไก่ในฟาร์ม ซึ่งทั้งหมดถือเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการสวัสดิภาพไก่เนื้อ ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่สร้างความมั่นในได้ว่า ไก่ในฟาร์มจะมีชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง ความสุขที่แท้จริงสำหรับไก่ประกอบด้วยอะไรบ้าง ? สวัสดิภาพสัตว์ คือการที่สัตว์ได้รับการเลี้ยงและดูแลให้สัตว์มีความสุขกาย สบายใจ มีสุขอนามัยที่ดี มีที่อยู่สะดวกสบาย ได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ โดยยึดหลักการ 5 ประการ (Five Freedoms) ในการเลี้ยงและปฏิบัติต่อสัตว์ ได้แก่ 1.อิสระจากความหิวกระหาย 2.อิสระจากความไม่สบายกาย 3.อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย 4.อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ 5.อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ดังนั้นการเลี้ยงไก่ของฟาร์มที่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีนั้น รวมถึงการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสุขภาพจิตไก่และวิธีการฆ่าไก่โดยที่ไม่ทำให้สัตว์เกิดความกลัวและทุกข์ทรมาน Better Chicken Commitment ซึ่งเป็นข้อตกลงเรื่องความมุ่งมั่นในการเพิ่มสวัสดิภาพไก่ให้ดีขึ้น จัดทำโดยองค์กรปกป้องสิทธิสัตว์ต่างๆ อาทิ Royal Society for the Prevention of Cruelty to Animals, Compassion in World Farming, The Humane League UK และ World Animal Protection เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้แนวทางแก่อุตสาหกรรมอาหารในการยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ให้ดีขึ้น โดยมีข้อกำหนดพื้นฐาน1 ดังนี้ ควบคุมความหนาแน่นในการอยู่อาศัยของไก่ไม่เกิน 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร คัดเลือกสายพันธุ์ไก่ที่เติบโตในอัตราที่ช้าลง ปรับปรุงมาตรฐานสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงไก่ ที่รวมไปถึงการปรับโรงเรือนให้ไก่ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ไก่แสดงออกทางด้านพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น การติดตั้งคอนเกาะ มาตรการในการทำให้ไก่สลบก่อนมีการจับไก่เข้าสู่กระบวนการการฆ่า เช่น การใช้ก๊าซเฉื่อย มีการรับรองการปฏิบัติตามมาตรฐาน โดยองค์กรผู้ให้การรับรอง (Third-party Audit) ข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชน และตรวจสอบได้ ซึ่ง Better Chicken Commitment ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า จะช่วยก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสวัสดิภาพที่ดีขึ้นต่อไก่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหลีกเลี่ยงการใช้ “ไก่สายพันธุ์เร่งโต” ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อไก่เป็นอย่างมากเป็นสาเหตุการตายและการคัดทิ้งในอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อ ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับองค์กรปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และเกิดข้อกังขาในกลุ่มผู้บริโภค “ไก่สายพันธุ์เร่งโต” หน้าตาเป็นอย่างไร ? ไก่สายพันธุ์เร่งโต หรือ “ไก่โตไว” เป็นผลมาจากการปรับปรุงคัดเลือกสายพันธุ์ให้ไก่เติบโต ในอัตราที่รวดเร็ว พูดให้เข้าใจกันง่ายๆ ในช่วงห้าศตวรรษที่ผ่านมา ฟาร์มไก่ทั่วโลก สามารถผลิตเนื้อไก่ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็น 4 เท่าตัว โดยมีชีวิตอยู่เพียงแค่ 42 วันเท่านั้น2 จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบปัญหามากมาย ทั้งด้านสวัสดิภาพสัตว์ ประสิทธิภาพในการผลิตและคุณภาพของเนื้อไก่ที่มาพร้อมกับอัตราการเจริญเติบโตของไก่ที่เร็วเกินไปไก่สายพันธุ์เร่งโตมักมีปัญหากล้ามเนื้อขาผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การคัดทิ้งและทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่สูญเสียรายได้ในที่สุด กล้ามเนื้อกลายเป็นเส้นสีขาว (White Stripping) มีโอกาสทำให้คุณภาพเนื้อไก่เกิดปัญหา 63-78% ในขณะที่ปัญหาเนื้อแข็ง (Wooden Breast) มีโอกาสทำให้เนื้อไก่ต้องถูกลดเกรดและขายได้ราคาน้อยลงมากถึง 23% อีกทั้งยังทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับไขมันเข้าสู่ร่างกายเพิ่มสูงขึ้น3 ตัวอย่าง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริการต้องประสบปัญหากล้ามเนื้อกลายเป็นเส้นสีขาว และปัญหาเนื้ออกแข็งเหมือนไม้อยู่เป็นประจำ จนทำให้อุตสาหกรรมผลิตเนื้อไก่สูญเสียรายได้ไปมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปี4 ปัญหาคุณภาพเนื้อไก่มีมาตรฐานต่ำ ยังพบได้อย่างกว้างขวางในประเทศ อิตาลี สเปน บราซิล ตุรกี และฟินแลนด์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศ ที่ยังมีการใช้ไก่สายพันธุ์เร่งโตเป็นหลัก เช่นเดียวกับประเทศไทย ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้ประกอบการจึงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากความสูญเสียที่เกิดจากคุณภาพของเนื้อไก่ที่ต่ำลง การเร่งโตและการถูกเลี้ยงอย่างแออัดภายในโรงเรือนทำให้ไก่ใช้ชีวิตโดยปราศจากสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา เช่น ระบบหายใจล้มเหลว การทำงานของหัวใจที่ผิดปกติและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการขาพิการหรือขาอ่อนแรงเนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ซึ่งพบได้ในอัตราที่สูงและสร้างความเจ็บปวดให้ไก่เป็นอย่างมาก แต่ยังเป็นปัญหาที่ถูกละเลยและไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทยในทางกลับกัน งานวิจัยที่ผ่านกลับไม่พบปัญหาสุขภาพเหล่านี้เลยในไก่ที่เติบโตในอัตราที่ช้าลง การเลี้ยงไก่โตช้าทำให้ผู้ประกอบการยิ่งขาดทุน ? ถึงแม้การใช้สายพันธุ์ที่โตช้าจะต้องใช้ระยะเวลาและอาหารในการเลี้ยงมากขึ้น แต่งานวิจัยของ Eat. Sit. Suffer. Repeat. จัดทำโดย RSPCA พบว่าการใช้สาพันธุ์โตช้ามีประสิทธิภาพมากกว่าในเชิงการผลิต หรือความคุ้มทุน (Cost Effective) มากกว่าสายพันธุ์ที่โตเร็วด้วยหลายเหตุผล อาทิ อัตรการตายในสายพันธุ์ไก่โตช้ามีเพียง 5.2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับอัตราการตาย 11.2% ในไก่สายพันธุ์เร่งโต5 นอกจากนี้ไก่สายพันธุ์โตเร็วยังประสบปัญหาขาพิการ (Lameness Legs) มากกว่า ทำให้ผู้ประกอบการกว่า 26-38% ต้องคัดไก่เหล่านี้ทิ้ง อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยจากศูนย์วิจัยด้านการเกษตรชั้นนำของโลก ณ มหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน (Wageningen University) ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 2561 พบว่าการเปลี่ยนถ่ายวิธีเลี้ยงไก่เนื้อแบบปัจจุบัน มาเป็นระบบการเลี้ยงที่เน้นการดูแลให้สัตว์มีสวัสดิภาพสูง โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียง 2 – 3 บาทต่อกิโลกรัมของต้นทุนการเลี้ยงแบบเดิม6 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าที่คาด การณ์ไว้ตอนแรก ในขณะที่ผู้บริโภคเองเต็มใจที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหากสัตว์ได้รับการดูแลสวัสดิภาพที่ดี กระแสต่อต้านไก่เร่งโตในสหภาพยุโรป ในขณะที่ฝ่ายผู้ผลิตและผู้ขายเนื้อไก่ของประเทศไทยมักหยิบยกประเด็นการเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่สู่สหภาพยุโรป แต่วันนี้กระแสความตื่นตัวต่อต้านผลิตภัณฑ์ที่เพิกเฉยต่อสวัสดิภาพสัตว์กำลังก่อตัวขึ้น หนึ่งในนั้นคือกระแสต่อต้าน “ไก่พลอฟกิน” (Plofkin Chicken) หรือการต่อต้านไก่ที่เจริญเติบโตเร็วผิดปกติเพื่อเร่งการผลิตเนื้อความไม่พอใจของผู้บริโภค การรวมกันขององค์กรปกป้องสิทธิสัตว์ และการตรวจสอบความโปร่งใสในอุตสาหกรรมผลิตเนื้อไก่ของภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการต้องลุกมาปรับปรุงมาตรฐานการผลิตอย่างเร่งด่วน เทรนด์ไก่โตช้ากำลังเพิ่มสัดส่วนในตลาดของประเทศฝรั่งเศสและสหราชาอาณาจักร ในขณะที่ไก่สายพันธุ์โตช้าได้ครอบครองตลาดค้าปลีกเนื้อไก่สดของประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นที่เรียบร้อย ไม่ใช่มุมมองเศรษฐศาสตร์เท่านั้นแต่ประเทศไทยควรเป็นประเทศต้นแบบและเป็นผู้นำที่เริ่มใส่ใจเรื่องหลักสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มไก่อย่างแท้จริง เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ส่งออกเนื้อไก่สู่ตลาดโลก และสร้างชื่อเสียงในมิติสวัสดิภาพสัตว์ให้กับประเทศไทย ผู้บริโภคเองก็มีสิทธิรับรู้ข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกบริโภคสิ่งที่ดีกับตัวเอง โดย ทุกท่านสามารถร่วมรณรงค์หยุดการทรมานไก่ในฟาร์มระดับอุตสาหกรรมกับเราได้ด้วยการร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ร้านอาหารฟาสฟู้ดในประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะยกระดับสวัสดิภาพไก่ภายในปี 2563 นี้ ผ่านการลงชื่อสนับสนุนโครงการที่ https://rb.gy/y4suo1 โดยตั้งแต่เริ่มกิจกรรมรณรงค์จนถึงขณะนี้ได้มีผู้บริโภคและประชาชนสนใจร่วมลงชื่อสนับโครงการกว่า 15,000 รายชื่อ คำอธิบายข้อเพิ่มเติม 1. ข้อกำหนดของ Better Chicken Commitment https://betterchickencommitment.com/ 2. BrandThink : รู้หรือไม่ ไก่ที่เรากินๆกัน มันโตเร็วขึ้น 4 เท่าในรอบ 50 ปี https://rb.gy/rnwvcz 3. Petracci M, Soglia F, Madruga M, Carvalho L, Ida E, Estévez M. Wooden – breast, white striping, and spaghetti meat: causes, consequences and consumer perception of emerging broiler meat abnormalities. Comprehensive Reviews in Food Science and Food Safety. 2019 Mar;18(2):565-834. Praud C, Jimenez J, Pampouille E, Couroussé N, Godet E, Bihan-Duval L, Berri C. Molecular phenotyping of White Striping and Wooden Breast myopathies in chicken. Frontiers in Physiology. 2020 Jun 24;11:6335. รายงาน Eat. Sit. Suffer. Repeat. จัดทำโดย RSPCA https://rb.gy/tmqtfw6. The Poultry Site : Improving poultry welfare may not be as expensive as initially thought https://rb.gy/tmqtfw / เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข , สัตว์ป่า, สัตว์ประสบภัยพิบัติ - ช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติ การจัดหาอาหาร ที่อยู่และยารักษาโรคให้กับสัตว์, สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th /