“ดีป้า” เผยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งสัญญาณบวก พร้อมเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

          สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ เผยผลการศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมไทย ชี้ปัจจุบันยังคงกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรม 1.0 ในทุกภาคอุตสาหกรรมที่ทำการสำรวจ แต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ถือเป็นส่งสัญญาณเชิงบวกในการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

          ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยในงาน “Thailand: Driving Towards Industry 4.0” ที่จัดโดย ดีป้า และ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ดีป้า ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนประชากร เกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และชุมชน ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้และลดต้นทุน ควบคู่ไปกับการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย เพื่อให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (Ecosystem) ผ่านการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และโครงการ Thailand Digital Valley ที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง (Deep Tech) เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและเกิดการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สนองตอบนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาล

          อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดีป้า จึงได้ร่วมมือกับ UNIDO ทำการสำรวจข้อมูลสถานภาพการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมไทยในแต่ละกระบวนการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลฐาน (Baseline) ต่อยอดสู่การจัดทำนโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

          ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร ดีป้า กล่าวว่า ผลการศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมปี 2563 สำรวจจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ จากประชากรในอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 29,000 ราย ในขั้นตอนการติดต่อซัพพลายเออร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ความสัมพันธ์กับลูกค้า และการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรม 1.0 ในทุกภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ 5-10 ปีข้างหน้า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ในอุตสาหกรรม 1.0 ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อซัพพลายเออร์ที่ยังคงส่งคำสั่งซื้อด้วยเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีโครงสร้างข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน หรือการติดต่อผ่านอีเมลหรือเอกสารแนบในรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ กระบวนการ
ผลิตที่ยังคงใช้เครื่องจักรที่ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ยังคงเป็นการติดต่อในรูปแบบอนาล็อคและแมนนวล

          ส่วนขั้นตอนที่มีแนวโน้มปรับขึ้นมาอยู่ในอุตสาหกรรม 2.0 ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบและผลิต (Computer-Aided Manufacturing) หรือซอฟต์แวร์อื่นที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจด้วยระบบสารสนเทศแบบบูรณาการ หรืออาจเป็นการใช้ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP)

          อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่า ประเทศไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และมีการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพราะดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญในการสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยกำลังคนดิจิทัลที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดสากล บัณฑิตจบใหม่ต้องพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยมีทักษะดิจิทัลตรงตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านโลจิสติกส์และการจัดการสินค้าคงคลัง ความปลอดภัยไซเบอร์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ดังนั้นจึงต้องมีการอัพสกิล หรือรีสกิลกำลังคนกลุ่มนี้ก่อนเข้าสู่ตลาด ซึ่งผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมจึงเป็นเสียงสะท้อนว่า ประเทศไทยสามารถเข้าใกล้ไทยแลนด์ 4.0 ได้มากน้อยเพียงใดจากภาคแรงงานและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโดยตรง

          พร้อมกันนี้ ในงานดังกล่าวยังมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0” โดย ดร.กษิติธร พร้อมด้วย นางสาวอุบลวรรณ หลอดเงิน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที Mr.Nobuya Haraguchi Chief, Policy and Research Unit, UNIDO HQ และ Prof.Keun Lee Seoul Nation University

          โดย ดร.กษิติธร ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรม 4.0 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ถือเป็นโอกาสที่ขึ้นอยู่กับการตอบสนองและความพร้อมของประเทศนั้น ๆ เช่น การรู้ทักษะดิจิทัล และระดับการศึกษาเทียบกับอัตราค่าจ้าง โครงสร้างประชากร ขนาดของตลาดในประเทศ และตำแหน่งในห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งอุตสาหกรรม 4.0 จะเป็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยปิดช่องว่างในกระบวนการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคุณภาพแรงงาน การหยุดการผลิตอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย รวมถึงการระบาดของโรคอุบัติใหม่ โดยในส่วนของประเทศไทย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กลับมองว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต้องอาศัยระยะเวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน ประกอบกับการขาดเงินลงทุนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ อีกทั้งขาดความตระหนักถึงประโยชน์และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0       

          “องค์ประกอบหลักที่ขาดหายไปในโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่จะยกระดับตนเองสู่ธุรกิจในยุคดิจิทัลและพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วยการสร้างมูลค่าและข้อมูลดิจิทัล เครือข่ายและการเชื่อมต่อ รวมถึงการจัดการภายในองค์กร ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและการขาดแคลนแรงงานมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อตลาดแรงงานไทยในภาพรวมและก่อให้เกิดความท้าทายหลายประการสำหรับผู้กำหนดนโยบายและสังคม ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับมหภาค เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี หันไปจ้างแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทำให้อัตราการว่างงานในประเทศสูงขึ้น” รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว 

          สำหรับรายงานผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม ดีป้า ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ และเปิดให้เข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ ดีป้า (www.depa.or.th) และเฟซบุ๊ก depa Thailand เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจของตนเองได้ รวมถึงผลสำรวจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัลในมิติต่าง ๆ ที่ ดีป้า ดำเนินการ