อธิบดี พช.ชู “หัวใจนักปราชญ์” ปลุกนักพัฒนาชุมชนรวมพลังสู่ความสำเร็จ น้อมนำศาสตร์พระราชาในหลวง ร.9 ขับเคลื่อนทฤษฎีใหม่สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
อธิบดี พช.ชู “หัวใจนักปราชญ์” ปลุกนักพัฒนาชุมชนทั่วประเทศรวมพลังทำงานสู่ความสำเร็จ น้อมนำศาสตร์พระราชา ในหลวง รัชกาลที่ 9 ขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” พร้อมสนองงานตามพระราชปณิธาน ในหลวง รัชกาลที่ 10 นำความผาสุกมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก (ศพช.) โดยมี ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล และ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนวัฒน์ ปิ่นแก้ว ผอ.สถาบันการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผอ.สำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด และอำเภอ รวมทั้งสิ้น 642 คน ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ดำเนินการพร้อมกันในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ทั้ง 7 แห่ง โดยใช้การถ่ายทอดการประชุมทางไกล (Conference)
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเปิดการอบรมว่า งานของเราในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญยิ่งในชีวิตการเป็นข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน นัยยะความสำคัญในที่นี้คือ ภารกิจการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนให้พึ่งพาตนเองได้ และสังคมไทยให้อยู่รอดปลอดภัยได้อย่างยั่งยืน ดังใน สคส. พระราชทาน ปี 2547 ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเตือนเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย พร้อมระเบิด 4 ลูก อันหมายถึงวิกฤตที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ 4 ประการ คือ วิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตสังคม วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองการปกครอง ภัยเหล่านี้ต่างเกิดขึ้นพร้อมๆกันแล้วบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงดำรงอยู่ สะท้อนให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นและมีความห่วงใยถึงปัญหาเหล่านี้ ทางออกของประเทศไทยในการรอดพ้นวิกฤตและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการที่จะต้องพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ดังที่พระองค์ทรงลงมือทำด้วยพระองค์เองให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านโครงการในพระราชดำริกว่า 4,471 โครงการ
“เราในฐานะข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน จึงต้องมีความเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจในโครงการที่เราจะดำเนินการจะก่อให้เกิดผลต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่สองสิ่งนี้จะนำพาประเทศให้อยู่รอด และเป็นการสนองงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เท่ากับเราได้มีโอกาสสนองคุณแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวถึงสองพระองค์”
จุดแตกหักของความสำเร็จซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของเราคือความอยู่รอดของครัวเรือนและสังคมไทย การดำเนินการทุกเรื่องจึงต้องมีใจในการทำงาน ที่ประกอบไปด้วยแรงปรารถนาดี มีความเชื่อ ความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำ ที่สำคัญต้องทำก่อน ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างให้พี่น้องประชาชนเกิดความเชื่อมั่น การที่กรมการพัฒนาชุมชนได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบประมาณ 4,787,916,400 บาท เพื่อดำเนินการในพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน นั้น พี่น้องประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ ประการแรกคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ประเทศจะอยู่รอดปลอดภัยได้ย่อมต้องเริ่มมาจากความมั่นคงของครัวเรือน ซึ่งครัวเรือนที่เป็นต้นแบบเหล่านี้ที่เรียกว่า “หัวไวใจสู้” เมื่อได้เรียนรู้หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่แล้วจะกลายเป็นครูพาทำ พื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาแล้วจะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ขยายผลสู่วงกว้างต่อไป ประการที่สองคือ ความคุ้มค่าของงบประมาณทั้งหลายทั้งปวงที่รัฐบาลได้อนุมัติในครั้งนี้ ท้องถิ่น ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่น ใช้วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นได้อย่างดี ประการสุดท้ายคือ ความสมัครสมาน รู้รัก สามัคคี ของคนไทยผ่านกิจกรรมการเอามื้อสามัคคี โดยแต่ละครัวเรือนจะมีการร่วมมือเอามื้อสามัคคีอย่างน้อย 3 ครั้ง ในระดับตำบลๆ ละ 7 ครั้ง ตลอดจนการนำเอาหลัก บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ซึ่งเป็นหน่วยที่มีความสำคัญและความหมายสำหรับสังคมเป็นสามเสาหลัก ที่ยึดโยงค้ำจุน สัมพันธ์กัน อย่างสมดุล แก่คนในสังคมไทย มาเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตและเป็นหลักของการพัฒนา
ขอฝากแนวคิดในการทำงานว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นจริงได้ ก็ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องมาช่วยกัน ช่วยอย่างไร คือ หมั่นสร้างสัมพันธภาพ พวกเราต้องออกจากกรอบคิด จะทำงานแค่เพียงใน “ไซโล” ของเราไม่ได้อีกแล้ว เราต้องเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น บูรณาการมองออกไปยังหน่วยงานภาคีเครือข่ายข้างเคียงทั้ง 7 ภาคี ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ด้วยว่ามีงานอะไรที่เชื่อมถึงกัน ส่งผลดีถึงพี่น้องประชาชนได้อย่างไร
“ในวันนี้จึงขอให้ทุกคนตั้งใจ ทุ่มเท แรงกาย แรงใจอย่างเต็มศักยภาพ มีธรรมมะในใจ ธรรมะเป็นเครื่องค้ำจุนโลก(หิริโอตตัปปะ) ขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ให้เม็ดเงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน ในด้านการเรียนรู้ขอให้เรียนรู้ด้วย “หัวใจนักปราชญ์” สุ จิ ปุ ลิ ใช้ในการพัฒนาตนเองเพื่อให้รู้ ให้เข้าใจในสิ่งที่จะต้องนำไปขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องประชาชน ซึ่งตรงตามหลักจะพัฒนาใครต้องพัฒนาตัวเองก่อน คือให้เป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉาน สื่อสารนำประโยชน์สู่พี่น้องประชาชนได้อย่างดี เพราะงานพัฒนาชุมชนคือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นักพัฒนาชุมชนต้องรองเท้าขาดก่อนกางเกง หมั่นเยี่ยมชุมชน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชุมชน สร้างความเชื่อมั่น เชื่อใจทุกสิ่งย่อมสำเร็จได้ด้วยดี ซึ่งเป็นสิ่งที่คนของกรมการพัฒนาชุมชนเชื่อมั่นเสมอมา ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้จะเป็นของขวัญที่มีค่ายิ่งในการครบรอบ 60 ปี ของกรมการพัฒนาชุมชน ในปี 2564 นำความผาสุกมาสู่พี่น้องคนไทยอย่างแท้จริง” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับในส่วนของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ในครั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้สถาบันการพัฒนาชุมชน จัดฝึกอบรมโครงการดังกล่าว ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช และศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา ในระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2563 โดยตลอด 5 วัน มีรูปแบบและวิธีการฝึกอบรม ประกอบด้วย การบรรยาย การแบ่งกลุ่มอภิปราย การฝึกปฏิบัติฐานเรียนรู้ ถอดบทเรียนผ่านสื่อ การฝึกครูกระบวนการ ครูประจำฐานเรียนรู้ ครูพาทำ จิตอาสาพัฒนาเอามื้อสามัคคีพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดลในพื้นที่เป้าหมายได้ต่อไป