ดร.วันดี ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ปลุกพลังสตรี สร้างมูลค่าเพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตามแนวทาง “Change for good”สร้างความสุข สร้างรายได้สู่ชุมชน

       ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ปลุกพลังสตรี สร้างมูลค่าเพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เข้มแข็ง ยกระดับบริหารจัดการหนี้ ตามแนวทาง “Change for good” สร้างความสุข สร้างรายได้สู่ชุมชน อย่างยั่งยืน

       ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน บรรยายพิเศษหัวข้อ “การสร้างมูลค่าเพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและการบริหารจัดการหนี้” ในโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สร้างพลัง สร้างความสุข สร้างรายได้สู่ชุมชน โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางทรงลักษณ์ วรภัย ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมด้วย ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ระดับจังหวัด/ตำบล/เทศบาล และสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจาก ภาคกลาง และภาคใต้ จำนวน 1,000 คน โดยโครงการในครั้งนี้เป็น รุ่นที่ 2 ดำเนินการระหว่างวันที่ 22-26 ธันวาคม 2563 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

       ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า “นับเป็นมิ่งมงคลยิ่งของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชน ในโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ประจำปีการศึกษา 2559-2560 โดยกำหนดการเริ่มจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 15-20 ตุลาคม 2563 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เขตภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม และเขตภาคใต้ ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ด้วยพระเมตตาของทั้งสองพระองค์ที่ทรงปรารถนาให้พสกนิกรชาวไทยที่ใช้ภูมิปัญญารวมกลุ่มกันผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผ้าไทยได้มีช่องทางการตลาด จึงได้มีพระบรมราชานุญาตให้เปิดพื้นที่ ให้พี่น้อง OTOP ทุกจังหวัดในภาคพื้นที่ ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระองค์เสด็พระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และทอดพระเนตรบูธผลิตภัณฑ์ OTOP โครงการจัดแสดงและจำหน่ายภูมิปัญญา OTOP เชิงบูรณาการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ภาคเหนือ และทรงร่วมกิจกรรมสาธิตของกลุ่มอาชีพ เป็นประจำทุกวัน ทุกคนต่างชื่นชมในพระจริยวัตรที่งดงามและพระเมตตาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทย ทรงลงพระนามาภิไธย ทรงลงอักษรชื่อร้าน ตลอดจนทรงร่วมในกิจกรรมการสาธิตอย่างไม่ถือพระองค์ ยังความรู้สึกภาคภูมิใจ ปลาบปลื้ม และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ มาสู่ผู้ประกอบการทุกคนที่ได้รับโอกาสอันดีนี้ สร้างรายได้เป็นมูลค่ากว่าล้านบาท

       มิ่งมงคลยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งนั้น คือ พระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่จะรักษาและสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดการประกอบพระราชกรณียกิจกว่า 60 ปี ผ้าไทยจึงสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่มั่นคง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นพี่น้องสตรีมาจนถึงปัจจุบัน เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงมีโอกาสเสด็จฯไปทรงเยี่ยมชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้านตามภูมิภาคต่างๆ ทอดพระเนตรผลงานที่ถ่ายทอดมาแต่บรรพบุรุษ 3 ภูมิภาค นำมาสู่นิทรรศการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค โดยนิทรรศการจัดแสดงผลงานการรังสรรค์ผ้าไทยที่ทรงมีพระวินิจฉัย ในการออกแบบสี ลวดลาย และการตัดเย็บบนผ้าย้อมครามลวดลายพระราชทาน และเสื้อผ้าที่ทรงร่วมกับดีไซน์เนอร์ชั้นนำของประเทศไทย ทั้งหมด 18 ชุด จึงขอเชิญชวนทุกท่านชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ซึ่งจัดแสดงในงาน OTOP City 2020 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี และทรงพระราชทานของขวัญปีใหม่แก่วงการผ้าไทยและพี่น้องชาวไทย คือ ลายมัดหมี่พระราชทาน ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิ ลาย S หมายถึง Sirivannavari ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของพระองค์ที่มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน Eternity Love โดยเป็นผลงานจากพระราชวินิจฉัยเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปยังกลุ่มทอผ้าครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ทรงร่วมทอด้าย ปั่นด้าย ย้อมคราม ทอผ้ากับประชาชนอย่างใกล้ชิด และทรงออกแบบโดยไม่ละอัตลักษณ์ประจำถิ่นเดิม เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

       ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวต่อไปว่า เรื่องน่ายินดีประการต่อมา คือ ผลงานความสำเร็จชิ้นโบว์แดง ที่สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้สนองงานสืบสานพระราชปณิธาน ดำเนินโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ซึ่งได้จับมือกับกรมการพัฒนาชุมชน ลงนาม MOU ร่วมกับ 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ในการสวมใส่ผ้าไทย และผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐนมตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน ทั้งนี้จึงเป็นการสร้างคุณค่าผ้าไทย กระตุ้นให้เกิดการใส่การใช้ผ้าไทย ผ้าไทยที่ต้องการมากขึ้น จากความสำเร็จนี้สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และกรมการพัฒนาชุมชน จะร่วมการขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องราวผ้าอัตลักษณ์ประจำถิ่นให้เกิดรูปธรรมในระยะต่อไป

        ดร.วันดี ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทุน” ในภาษาธุรกิจ คือ “เงินตั้งต้น” โดยวันนี้ในเรื่องของทุน ทุนที่ดี คือ การนำทุนไปประกอบกิจกรรมใดๆ จากความเชี่ยวชาญ ความรู้ที่มีไปต่อยอดประกอบอาชีพ แต่ขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จึงเปรียบเสมือนแสงสว่าง ความหวังให้กับพี่น้องสตรีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นกองทุนที่เกิดขึ้นเพื่อให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุนหรือเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มละ 3 คน ด้วยวงเงินสูงสุดโครงการละ 200,000 บาท ดอกเบี้ย 0.1% ต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้โจทย์สำคัญในการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอย่างไรให้มีความยั่งยืน สามารถช่วยเหลือลูกหลานต่อไปในอนาคต โดยปัจจุบันพบว่า มีการกู้เงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั้งหมด 14,369,365,292.75 บาท ชำระคืน 9,849,695,838.30 บาท ซึ่งแบ่งกองทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ กองทุนเดิมตั้งแต่ปี 2556-2559 มีหนี้เกินกำหนดชำระจากหนี้คงเหลือทั้งหมด 52.51 % และกองทุนใหม่ปี 2560 – 2563 มีหนี้เกินกำหนดชำระจากหนี้คงเหลือทั้งหมด 12.99% รวมทั้งหมด 29.29 % (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2563)

       จากข้อมูลที่ปรากฎปัจจุบันในรายภาคพบว่า ภาคกลาง จังหวัดเพชบุรีและภาคใต้ จังหวัดตรัง มีการบริหารจัดการหนี้ได้เป็นอันดับ 1 ทำให้หนี้ลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อยอดให้กับพี่น้องสตรีสร้างงาน สร้างอาชีพต่อไป โดยตัวแทนสตรี จังหวัดเพชรบุรี ของภาคกลางมีการบริหารจัดการหนี้ลดลง 4.61 % เนื่องจากเพชรบุรีมีหนี้ไม่มากนัก เป็นหนี้เก่าในระหว่างปี 2555-2556 ประมาณ 13% ในขณะที่ไม่มีหนี้ใหม่ และได้รับความกรุณาจากคณะทำงานจังหวัดได้ให้แนวทางการดำเนินงาน ได้แก่ พิจารณาอายุมีความเหมาะสมต่อการกู้หรือไม่ ตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้กู้ลักษณะของสถานที่ประกอบการมีลักษณะเป็นการเช่าหรือเป็นเจ้าของ โครงการมีความซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่นๆ มีความเป็นไปได้หรือไม่ โดยต้องมีการวางแผนงานงบประมาณที่ชัดเจน ในความดูแลของเครือข่ายส่วนราชการต่างๆ และสร้างความช่วยเหลืออย่างครบวงจร ในส่วนของจังหวัดตรัง มีการบริหารจัดการหนี้ลดลงได้เป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ 7.39 % โดยอาศัยการบริหารงานด้วยการวางแผนร่วมกันระหว่างพัฒนาการจังหวัดและคณะทำงานขับเคลื่อนสตรีในทุกระดับ ต่อการบริหารจัดการกลุ่มหนี้เสีย โดยการเข้าไปสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากอะไร แล้วจึงนำปัญหาเหล่านั้นมาพูดคุย วางแผน ร่วมกันเพื่อเร่งติดตาม และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน

      ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดต่อการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้อย่างยั่งยืน พวกเราต้องรวมพลัง จับมือกัน สร้างเครือข่ายในแต่ละจังหวัด เพิ่มพูนความรู้ พัฒนาศักยภาพกลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและเครือข่ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ในการสร้างพลังสตรีสู่การพัฒนาชุมชน เพื่อนำความรู้ไปช่วยในการสร้างจุดแข็ง เสริมจุดอ่อนในการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในแต่ละจังหวัดให้มีประสิทธิภาพเกิดความยั่งยืน และร่วมกันให้คำมั่นต่อพี่น้องสตรีในการติดตามการบริหารจัดการหนี้ค้างชำระสู่เป้าหมายร้อยละ 10 เพื่อยกระดับการบริหารจัดการหนี้ ตามแนวทาง “Change for good” ต่อไป