ปริญญ์ นำทีมยกระดับ “ธุรกิจเกษตรชุมชน” เตรียมเดินหน้าโครงการ Local Hero สร้างชุมชนต้นแบบเน้นใช้เทคโนโลยีและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ช่วยขับเคลื่อน
ปริญญ์ นำทีมยกระดับ “ธุรกิจเกษตรชุมชน” เตรียมเดินหน้าโครงการ Local Hero สร้างชุมชนต้นแบบเน้นใช้เทคโนโลยีและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ช่วยขับเคลื่อน
ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค & หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร ครั้งที่ 1/2564 โดยมีคณะทำงานและตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย เข้าร่วมประชุมทั้งที่กระทรวงเกษตรฯ และผ่านระบบออนไลน์
โดยนายปริญญ์ได้เปิดเผยว่า ในปี 2563 ภารกิจของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร ถือได้ว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและเกษตรกรได้ดีในระดับหนึ่ง รวมถึงจัดทำโครงการเพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านสินค้าเกษตรเกรดพรีเมี่ยมอย่างเกษตรอินทรีย์ด้วย และสำหรับภารกิจสำคัญในปี 2564 นี้ จะมุ่งเน้นการสนับสนุนการพัฒนาสินค้าเกษตรบางชนิดอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร และพัฒนาบุคลากรด้านธุรกิจเกษตรให้ดีขึ้น
โดยวาระการประชุมครอบคลุมถึงเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ รายงานความกาวหน้าการส่งเสริมธุรกิจเกษตร ภายใต้การส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ได้ช่วยเหลือด้านการทำตลาดให้เกษตรกรให้ปรับตัวสู้กับภาวะวิกฤตโควิด-19 ผ่านช่องทางออฟไลน์ อาทิ ตลาดภายในพื้นที่ การค้าส่งข้ามภาค ตลาดเฉพาะ (Modern Trade) รวมช่องทางออนไลน์อย่างตลาดเกษตรกรออนไลน์ ที่ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายสินค้าเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ที่ไม่ต้องเสียค่าบริการให้พ่อค้าคนกลาง ผู้บริโภคสามารถต่อรองราคาและเลือกสินค้าได้ตามความต้องการ โดยได้รับการตอบรับที่ดี รวมมูลค่าจากทุกช่องทางจำหน่ายได้กว่า 2 พันล้านบาท
ในที่ประชุมยังได้ให้ความสําคัญกับการส่งเสริมผลผลิตเมล็ดกาแฟภายในประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกับกาแฟอาราบิก้า (Arabica) เพราะความต้องการทั้งในไทยและในตลาดโลกสูงมาก สำหรับในไทยมีความต้องการมากกว่ากำลังการผลิต จึงจำเป็นต้องนำเข้ากาแฟหลายหมื่นตันต่อปี จึงมีข้อเสนอแนะให้ส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้าบนพื้นที่สูง ใต้ร่มเงาป่า เช่น ยอดดอยที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญต่างๆ เพื่อผลผลิตที่ดี สร้างเอกลักษณ์ทางด้านรสชาติ และกลิ่น ที่ดีกว่า รวมถึงเป็นการอนุรักษ์ ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งนี้จะต้องมีการทํางานเชิงรุกกับผู้ซื้อรายใหญ่ของไทยเพื่อป้องกันการลักลอบการนำเข้าเมล็ดกาแฟอย่างผิดกฎหมายอีกด้วย
ส่วนแผนงานปี 2564 ของคณะกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร ยังคงให้ความสำคัญกับการนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อาทิ เดินหน้าสนับสนุนให้นำ Creative IT, character และ license มาเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน ให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างเป็นอาวุธใหม่ให้เหมาะสมกับโลกยุคดิจิทัล เดินหน้าโครงการ Local Hero โดยประสานงานกับภาครัฐและเอกชน เริ่มกำหนดชุมชนต้นแบบในการดำเนินงาน อาทิเช่นสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ปลูกโกโก้ ที่เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยนำความคิดสร้างสรรค์ เข้าไปสนับสนุนให้ดีขึ้นทั้งระบบ ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การแปรรูป ตลอดจนถึงสินค้าปลายนํ้าอย่างช็อกโกแลต เพราะความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลกมีสูงมาก และโกโก้ในไทยมีคุณภาพดี เราจึงควรพยายามพัฒนาวัฎจักรของอุตสาหกรรมโกโก้อย่างบูรณาการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ทางคณะกรรมการต้องการที่จะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรไทยได้ปรับตัวไปสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ Smart Farmer เพื่อช่วยเพิ่มรายได้และลดต้นทุนการผลิต โดยจะร่วมมือกับสตาร์ทอัพชั้นนําด้านการเกษตรของไทยและศูนย์ AIC (Agritech Innovation Center) ทั่วประเทศของกระทรวงเกษตรฯให้เกษตรกรได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและองค์ความรู้ยุคใหม่เพื่อไปประยุกต์ใช้ในแต่ละชุมชน โดยองค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจการเกษตรจะรวมถึงด้านมิติของด้านการเงิน การระดมทุน การตลาดออนไลน์ และธุรกิจภาคบริการของอุตสาหกรรมเกษตร ที่ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตรจะจัดผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชามาช่วยเสริมความรู้ที่ดีให้เกษตรกรต่อไป