มท.1 ขอบคุณ อช. และ ผู้นำ อช. ทั่วประเทศ เนื่องในวาระครบ 52 ปี สานต่อศาสตร์พระราชา พัฒนาชุมชน สู่ความยั่งยืน วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งสารถึงอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) และผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล ทั่วประเทศเนื่องในวาระครบรอบ ๕๒ ปี ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ความว่า กระทรวงมหาดไทยขอขอบคุณ อาสาพัฒนาชุมชนและผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมานะ อดทน เสียสละ และดำรงตนเป็นแบบอย่างให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด และในวาระครบรอบ ๕๒ ปี ของการดำเนินงานอาสาพัฒนาชุมชน ผมขอฝากให้ทุกท่านได้ร่วมกันน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน/หมู่บ้าน ภายใต้แนวคิด “รวมพลัง อช. สานต่อศาสตร์พระราชา พัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน” โดยเป็นการร่วมสร้างสังคมพัฒนาชุมชนใหม่ ด้วยการเติมความรู้ให้คนในชุมชน ร่วมพัฒนาบ้านเกิด ๓ เรื่อง ประกอบด้วย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสตร์พระราชา และนวัตกรรมที่เหมาะสม มีการฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า วิถีวัฒนธรรม และร่วมเป็น ส่วนหนึ่งของกลไกสร้างความสามัคคี มีจิตอาสา พัฒนาชุมชน เพื่อให้ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติก่อเกิดความพอมีพอกิน ในขั้นพื้นฐาน รวมกลุ่มยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และพัฒนาความเข้มแข็งในขั้นกลางและขั้นก้าวหน้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ครอบครัว มีความสุข ชุมชนและประเทศชาติมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตลอดไป ด้ายนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) และผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ถือเป็นเพื่อนคู่คิดของพัฒนากร กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอาสาพัฒนาชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๑๒ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนที่มีจิตอาสา สมัครเข้าร่วมพัฒนาชุมชนของตนทั้งในระดับหมู่บ้านและตำบล โดยเรียกอาสาสมัครระดับหมู่บ้านนี้ว่า “อาสาพัฒนาชุมชน หรือ อช.” มีทุกหมู่บ้าน ๆ ละ ไม่น้อยกว่า ๔ คน และระดับตำบลเรียกว่า “ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน หรือ ผู้นำ อช.” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากเวทีประชาคมอาสาพัฒนาชุมชน ตำบลละ ๒ คน เป็นชาย ๑ คน หญิง ๑ คน ปัจจุบันมีอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) จำนวน ๒๘๙,๕๘๐ คน และผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) จำนวน ๑๓,๕๐๐ คน ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ ในหมู่บ้าน/ตำบลที่ได้รับคัดเลือก โดยกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข พัฒนาหมู่บ้านของตนเอง ช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ หรือกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน รวมทั้งเป็น ผู้ประสานงานระหว่างองค์กรประชาชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชนต่าง ๆ นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายภารกิจให้ อช./ผู้นำ อช. ดำเนินการเพิ่มเติมใน ๑๐ ภารกิจ ดังนี้ 1) การจัดเก็บข้อมูล จปฐ. /กชช.2ค. 2) การขับเคลื่อนแผนชุมชน 3) การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๔) การจัดการศูนย์เรียนรู้ชุมชน ๕) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๖) การส่งเสริมวิถีประชาธิปไตย ๗) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 8) การแก้ไขปัญหาความยากจน ๙) การส่งเสริมอาชีพ และ 10) การส่งเสริมกองทุนชุมชน ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ถือว่า อช. /ผู้นำ อช. เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดีสำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ กรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายภารกิจให้ อช./ผู้นำ อช. เป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริม และยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนที่ตกเกณฑ์ จปฐ. ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน/หมู่บ้าน โดยเน้นการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการร่วมกับการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และการจัดกิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ ๕๒ ปี โครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน โดยกำหนดให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทอดผ้าป่า หรือศาสนกิจอื่น ๆ ของแต่ละศาสนา กิจกรรมการแสดงพลังอาสาพัฒนาชุมชน ได้แก่ การอ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวคำปฏิญาณตน กิจกรรมการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อภิปราย สัมมนาทางวิชาการ การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” การจัดนิทรรศการผลงาน/แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของ อช./ผู้นำ อช. กิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น ทำความสะอาดแม่น้ำ คู คลอง ทำความสะอาดสถานที่สำคัญของชุมชน/หมู่บ้าน กิจกรรมเอามื้อสามัคคี กิจกรรมชุมชนเกื้อกูล เป็นต้น และ กิจกรรมมอบเกียรติบัตรให้กับ อช./ผู้นำ อช. ที่มีผลงานดีเด่น และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน การรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด การบริจาคสิ่งของแก่ผู้ยากไร้ กิจกรรมแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ผักในธนาคารเมล็ดพันธุ์ผัก เป็นต้นทั้งนี้ การจัดกิจกรรมฯ ให้ดำเนินการตามวิธีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามแนวปฏิบัติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และในโอกาสนี้ อยากจะเชิญชวนพี่น้อง อช. และ ผู้นำ อช. ทุกท่านได้ร่วมกันน้อมนำพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา ต่อยอด” สู่การปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง และร่วมสรรสร้างชุมชน สังคมสู่ความเข้มแข็งและมีความสุขอย่างยั่งยืน โดยการสร้างภูมิคุ้มกันในทุกครัวเรือน และพัฒนาคนให้มีความรู้และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดี ท่ามกลางวิกฤตโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก โดยเน้นการให้ความสำคัญของการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดิน น้ำ สภาพแวดล้อม เป็นการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร เพื่อให้ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals –SDGs ต่อไป อธิบดี พช.กล่าว