ใช้อะไรบ้าง เมื่อไปติดต่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย

ตาม “พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535” กำหนดให้เจ้าของรถทุกคันต้องทำประกันภัยรถภาคบังคับหรือประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองความสูญเสียและเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัยของผู้ประสบภัยจากรถ แต่อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่ผู้ประสบภัยจากรถไม่สามารถเรียกร้อง “ค่าเสียหายเบื้องต้น” จากที่ใดได้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จึงได้กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย”ขึ้น เพื่อเป็นทุนในการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ และเพื่อเป็นหลักประกันให้สถานพยาบาลรับผู้ประสบภัยจากรถเข้ารักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งค่าเสียหายเบื้องต้น เป็นการจ่ายโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ให้กับผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน โดยจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 30,000 บาท หรือค่าปลงศพหรือค่าชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ รายละ 35,000 บาท ซึ่งหากได้รับบาดเจ็บแล้วต่อมาเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะ จะได้รับสูงสุดไม่เกิน รายละ 65,000 บาท โดยเมื่อกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ดำเนินการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถไปแล้ว กองทุนฯ ยังคงมีหน้าที่ติดตามเรียกเงินค่าเสียหายเบื้องต้นคืนจากเจ้าของรถ บริษัท หรือผู้กระทำผิดต่อไป

ผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ สามารถขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้ ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
1. ประสบอุบัติเหตุจากรถไม่มี พ.ร.บ. และเจ้าของรถไม่จ่าย หรือจ่ายไม่ครบ
2. ประสบอุบัติเหตุจากรถที่ไม่อยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ เช่น ถูกยักยอก ฉ้อโกง ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ เป็นต้น และได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนแล้ว
3. ประสบอุบัติเหตุจากรถที่ไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของ และรถนั้นไม่มีพ.ร.บ.
4. ประสบอุบัติเหตุจากรถชนแล้วหนี
5. ประสบอุบัติเหตุจากรถที่มี พ.ร.บ. แต่บริษัทประกันวินาศภัยไม่จ่าย หรือจ่ายไม่ครบ
6. ประสบอุบัติเหตุจากรถที่ถูกกฎหมายยกเว้นให้ไม่ต้องทำพ.ร.บ. เช่น รถราชการ รถทหาร (แต่ทั้งนี้ในปัจจุบัน ในทางปฏิบัติ รถเหล่านี้ส่วนมากได้มีการจัดทำพ.ร.บ. เพื่อบริหารความเสี่ยงแล้ว)

สำหรับการขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย สามารถยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นต่อสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยพร้อมหลักฐาน ดังนี้
1. ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง หรือสำเนาทะเบียนบ้าน ในกรณีผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บ
3. สำเนามรณบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประสบภัยและทายาทของผู้ประสบภัยที่ถึงแก่ความตาย ในกรณีที่ผู้ประสบภัยถึงแก่ความตาย


ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย ต้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : สายด่วน คปภ. 1186