วันที่ 16 มีนาคม 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ ผศ.ดร.วิชุดา จันทร์ข้างแรม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายวิทยาเขตสระแก้ว มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นประธานในการประชุมหารือความร่วมมือ “โครงการ โคก หนอง นา โมเดล” ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และผู้บริหาร ข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมด้วย อ.ธนพร คำวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตสระแก้ว ดร.ประทีป อูปแก้ว ผู้รักษาการแทนคณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร ดร.เกรียงศักดิ์ แสงจันทร์ ผู้ประสานงานโครงการมหาวิทยาลัยบูรพา และคณะผู้บริหาร คณาจารย์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมทางไกล ชั้น 4 อาคาร ศ.ดร.สุชาติ อุปถัมป์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ผศ.ดร.วิชุดา จันทร์ข้างแรม กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว แห่งนี้เป็นหนึ่งใน 3 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยบูรพา โดยอีก 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี โดยตลอดมาตั้งแต่ปี 2540 หรือราว 24 ปี ที่วิทยาเขตแห่งนี้ได้ตั้งขึ้น ในทุกกระบวนการผลงานของมหาวิทยาลัยพยายามให้เกิดความสอดคล้องกับแนวทาง นโยบายการพัฒนาจังหวัดอย่างสูงสุด ในเนื้อที่กว่า 1,368 ไร่ ของวิทยาเขตแห่งนี้ได้แบ่งออกเป็น 3 โซน เพื่อตอบโจทย์ทั้งในด้านการศึกษา และการทดลองพัฒนาการทำเกษตร กสิกรรม สร้างสรรค์ผลผลิต ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป ตัวอย่างเช่น โซนที่ 1 ดำเนินการเพาะปลูกพืชสมุนไพร การเลี้ยงผึ้งชันโรง โซนที่ 2 พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ แพะ ไก่ โดย คณะเทคโนโลยีการเกษตร และโซนที่ 3 พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกไม้เศรษฐกิจ ไผ่ ยูคาลิปตัส และฟาร์มสัตว์ใหญ่ เป็นต้น โดยที่กล่าวมานี้ยังมีพื้นที่อีกกว่าร้อยไร่ ที่ยังต้องมีการบุกเบิกเพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด การหารือร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในเบื้องต้น ก่อนที่จะไปถึงขึ้นตอนของการบรรลุความร่วมมือใด ๆ ในอนาคต คือการได้รับรู้ การร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางที่ช่วยส่งเสริมวงการวิชาการให้ขยายผลสู่ชุมชน จังหวัด ได้อย่างจริงจังในระยะยาว สอดรับกับ Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่สำคัญที่มหาวิทยาลัยบูรพาพยายามผลักดัน การสร้างมิติใหม่ การตั้งเป้าหมายที่ดีในกระบวนการเรียนรู้ ปรับการเรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ โดยเฉพาะสิ่งที่จะอำนวยให้เกิดรูปธรรมนั้นคือการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่านอกจาก กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แล้วยังมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเป้าประสงค์คือการช่วยเหลือคนตกงาน ผู้ผ่านการฝึกอบรมโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังของกรมราชทัณฑ์ หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องการปรับวิถีชีวิต เรียนรู้วิถีพอเพียง ในเบื้องต้นที่จะได้คือผลผลิตที่สามารถเลี้ยงตนเอง เมื่อมีคุณภาพจึงนำสู่การพัฒนาแปรรูปสร้างมูลค่า ในส่วนของพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนายังสามารถเชื่อมโยงเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้สนใจ เรียกได้ว่านอกจากจะเกิดประโยชน์แก่ตัว และครัวเรือนแล้ว ยังจะช่วยต่อยอดให้พื้นที่ใกล้เคียง เป็นศูนย์เรียนรู้ให้ทั้งคนไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้ศึกษาเรียนรู้ด้วย วันนี้จึงดีใจที่ได้มีโอกาสในการหารือเพื่อร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว เพื่อนำพื้นที่ของมหาวิทยาลัยไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและสร้างศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนา อันจะเป็นการช่วยกันสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ด้วย ด้าน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ กล่าวเสริมว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” คือการน้อมนำศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงพระราชทานมาผสานเข้ากับศาสตร์ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ให้เกิดความลงตัวและปรับประยุกต์ได้ตามภูมิสังคม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) จึงอยากชี้ให้เห็นว่าเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” กับการ แก้ไขปัญหาความอดอยาก การขจัดความยากจนเป็นภาพเดียวกัน แต่การจะไปถึงจุดนั้นต้องอาศัยศักยภาพ จากผู้ที่เรียกได้ว่า “มีใจ” มาร่วมมือกัน ทั้งนี้ในด้านภาคการศึกษาเรามีหน้าที่หลักในการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นแก่สังคม พัฒนาคน พัฒนาชาติ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล กล่าวว่า “ความก้าวหน้าของภาคการศึกษาวันนี้ คือผลงานทางการศึกษาต้องตอบโจทย์และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์ทางสังคม และประเทศชาติได้ ภาคการศึกษาวันนี้จึงต้องปรับตัวให้อยู่แนวเดียวกับพื้นที่ เคียงข้างประชาชน “นำดราม่าในพื้นที่ แปลงเป็นดาต้า” พยายามผลักดันนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ได้สร้างสรรค์ไปใช้กับพื้นที่และต่อยอดให้ได้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลักการพื้นฐานคือการพัฒนาจิตใจ สร้างคน เดินตามวิถีบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง การไปสู่ความพอเพียง ตามแนวทางศาสตร์พระราชา เน้นการเริ่มต้นที่การทำเพื่อ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น โดยไม่มองเรื่องของการสร้างมูลค่าหรือความร่ำรวยเป็นเรื่องรอง จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับจังหวัดสระแก้ว โดยมี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว เป็นผู้นำขับเคลื่อน มาสร้างโอกาสให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้เข้าถึง ร่วมเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ และนำไปสู่การปรับประยุกต์ให้ชีวิตเกิดความมั่นคงและยั่งยืน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้ายว่า “การประชุมหารือในวันนี้ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว คือการพยายามตกผลึก แสวงหาแนวทางความร่วมมือเพื่อยกระดับผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นในทุกมิติ โดยมุ่งมองไปถึงการสร้างศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้หลักการพัฒนาแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานไว้เป็นหลักชัยคู่แผ่นดินไทย ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถตอบโจทย์ทั้ง 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้จริงและเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมีแนวพระราชปณิธานที่จะ สืบสาน รักษา และต่อยอด หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ มาสู่ชีวิตพี่น้องประชาชนไทยในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับอาเซียนต่อไป”