วันที่ 28 มีนาคม 2564 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายนามพระพุทธรูป ปางประทานพร โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารกรม เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับลิขิตประทานชื่อพระพุทธรูปปางประทานพร เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี กรมการพัฒนาชุมชนว่า "พระพุทธพัฒนปชานาถ" อ่านว่า พระ-พุด-ทะ-พัด-ทะ-นะ-ปะ-ชา-นาด แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่งของประชาชนให้ประสบความเจริญ และขอประทานพระอนุญาตเชิญอักษรพระนามย่อ ออป. ประดิษฐานบริเวณด้านหน้าฐานของพระพุทธรูป และเหรียญพระพุทธรูปปางประทานพร เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี กรมการพัฒนาชุมชนว่า ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร กรมการพัฒนาชุมชน ได้ถือเอาวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันก่อตั้งกรม นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2505 ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับที่ 10 พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน กรมการพัฒนาชุมชนครบรอบ 60 ปี จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางประทานพร อันเป็นพระพุทธรูปประจำวันจันทร์จากการออกแบบของคุณสุรเดช ลิ้มพานิช (หมึก ท่าพระจันทร์) โดยมีการสร้างองค์พระจำนวน 2 ขนาด คือ 1) ขนาดสูง 75 นิ้ว จำนวน 13 องค์ เพื่อประจำกรมการพัฒนาชุมชน 1 องค์ ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง และวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน 1 แห่ง และ 2) ขนาดสูง 32 นิ้ว สำหรับบูชาบนสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และอำเภอ รวม 955 องค์ เพื่อให้ข้าราชการและประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้บูชาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินกิจกรรมตามแผนปฏิบัติราชการกรมการพัฒนาชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ได้แก่โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 11,414 หมู่บ้าน โดยมีกิจกรรมดังนี้ การอบรมครัวเรือนต้นแบบศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” จำนวน 11,414 คน การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” จำนวน 11,414 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 8,780 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 2,634 แห่ง เพื่อใช้ในกระบวนการเรียนรู้ให้กับครัวเรือนต้นแบบหมู่บ้านละ 30 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 342,420 คน นอกจากนี้ ได้สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นจำนวน 168 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ กาญจนบุรี กระบี่ สุรินทร์ และสุโขทัย โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย ผู้นำชุมชน 1,000 ตำบล 878 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 15,000 คน โดยการฝึกปฏิบัติในพื้นที่แปลง CLM, HLM เพื่อสร้างทีมขับเคลื่อนการพัฒนาตำบลตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการปฏิบัติบูชา “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อพัฒนาชุมชนดำเนินการร่วมกับสำนักงาน กปร. นอกจากนี้ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่“โคก หนอง นา” มากำหนดเป็นชุดวิชาสำหรับฝึกอบรม พัฒนากรก่อนประจำการ นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชน ซึ่งความสำเร็จในระยะที่ 1 และต่อในระยะที่ 2 ด้วยการทำอย่างต่อเนื่อง จนเป็นวัฒนธรรมการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง การรณรงค์ส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทย ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คนไทยช่วยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ถือเป็นการกระตุ้นยอดขายผ้าไทย สร้างรายได้สู่ชุมชน การดำเนินการส่งเสริมการจ้างงาน นักการตลาดรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ สร้างงาน และเป็นการส่งเสริม ให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เข้าถึง การตลาดออนไลน์ได้ ช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนยากจน ให้ดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพึ่งตนเองได้ โดยใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) แก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ สร้างความมั่นคงให้ประชาชนอย่างยั่งยืน อีกทั้ง การส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ตามพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า รวมทั้งการอนุรักษ์ พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วยจังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และสระแก้ว ซึ่งต่อมาได้เกิดชุมชนนำร่อง ภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านคชานุรักษ์” โดยการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) หรือ GIS เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บสารสนเทศชุมชน หมู่บ้านคชานุรักษ์ หมู่บ้านขยายผล และหมู่บ้านได้รับผลกระทบ เชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งพิกัดชุมชน ข้อมูลชุมชน ผู้นำชุมชน แหล่งท่องเที่ยว สถานการณ์ช้าง การป้องกัน เฝ้าระวัง องค์ความรู้ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพของชุมชนอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับภารกิจกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงคงเข้มแข็งในชีวิตให้กับประชาชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565” ในการนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนากรมการพัฒนาชุมชน นับเป็นโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่ง ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้สำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งยังความเป็นสิริมงคลมาสู่ข้าราชการ พนักงานราชการและเจ้าหน้าที่ กรมการพัฒนาชุมชนทุกคนได้มีกำลังใจในการทุ่มเททำงานอย่างอดทน และเสียสละเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และพี่น้องประชาชน ให้มากยิ่งขึ้นสืบไป อธิบดีพช. กล่าวในตอนท้าย.