“จุรินทร์” MOU 36 หน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี2564 พร้อมออก 16 มาตรการในการดูแล
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างการเป็นประธานและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2564” คาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้สำคัญในปี 2664 นี้ จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 5.4 ล้านตัน หรือประมาณ 23% จากปี 2563 ซึ่งมีประมาณ 4.4 ล้านตัน โดยผลไม้ที่คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกมากสุด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง สับปะรด และลิ้นจี่ ดังนั้น เพื่อรองรับผลผลิตที่เพิ่มกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 36 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมการกระจายผลไม้และส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ
โดยการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกและกระจายผลไม้ไปยังผู้บริโภค จะเริ่มตั้งแต่ผลไม้เริ่มออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม 2564 นี้เป็นต้นไป โดยมี 16 มาตรการที่จะขับเคลื่อน ได้แก่ 1.เร่งรัดการตรวจรับรอง GAP ที่เป็นเอกสารสำคัญในการส่งออกผลไม้ไทย โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตั้งเป้าหมายว่าปี 2564 จะดำเนินการตรวจรับรองให้เสร็จสิ้นอย่างน้อย 120,000 แปลง
2.จะผ่อนปรนกฎระเบียบการเคลื่อนย้ายแรงงาน จากปีที่ผ่านมาสามารถขนย้ายแรงงานเพื่อเก็บผลไม้ข้ามจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่สำหรับปีนี้จะกำหนดมาตรการสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเก็บผลไม้จากภาคตะวันออกไปสู่ภาคใต้ได้ด้วย 3.ขอความร่วมมือ กอ.รมน. สนับสนุนกำลังพลในการช่วยเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลไม้ เช่น ลองกอง จากสวนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4.ส่งเสริมการรับซื้อผลไม้ของผู้ประกอบการ (ล้ง) ที่รวบรวมผลไม้ กิโลกรัมละ 3 บาท
5.สนับสนุนให้มีรถเร่ไปซื้อผลไม้เพื่อนำไปขายปลีกให้กับผู้บริโภคจำนวน 4,000 ตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ จะช่วยสนับสนุนรถเร่คันละ 1,500 บาท เพื่อกระจายผลไม้ไปยังผู้บริโภคได้คล่องตัวขึ้น 6.สำหรับผู้ค้าผลไม้ที่จะส่งไปขายผ่านไปรษณีย์ไทย โดยจะช่วยสนับสนุนลดค่าใช้จ่าย ที่คิดจาก 10 กิโลกรัม คิดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 95 บาท ลดลงเหลือ 30 บาท เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวสวนขายผลไม้ขายผ่านไปรษณีย์ได้มากขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้ 2,000 ตัน จากปีที่แล้ว 400 ตัน
7.กระทรวงพาณิชย์จะประสานงานเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรจำหน่ายผลไม้โดยตรงได้ที่ตลาดกลาง ตลาดสด สนามบิน ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างท้องถิ่น รวมถึงปั๊มน้ำมัน 8.ผลักดันการส่งออกผลไม้ โดยช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกผลไม้กิโลกรัมละ 2.50 บาท มีเป้าหมาย 60,000 ตัน 9.ใช้อมก๋อยโมเดลหรือเรียกว่า เกษตรพันธสัญญา ทำสัญญาล่วงหน้าให้เกษตรสามารถขายผลไม้ได้ปริมาณ 20,000 ตัน
10.สนับสนุนสามารถนำผลไม้ขึ้นเครื่องบิน โดยโหลดผลไม้ได้ 25 กิโลกรัมฟรี ได้ทุกสายการบินโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 11.กระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆส่งเสริมการค้าออนไลน์โดยจัดอบรมกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นๆ ให้มีความรู้ในการขายผลไม้ออนไลน์ และสนับสนุนให้ไปขายบนแพลตฟอร์ม 11 แพลตฟอร์มซึ่งเพิ่มจากปีที่แล้ว
12.ส่งเสริมการขายผลไม้ในตลาดต่างประเทศอย่างเข้มข้น 13.ส่งเสริมการส่งออกออนไลน์ผลไม้ไทย 14.ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทยในต่างประเทศในรูปแบบผสมผสานที่เรียกว่าไฮบริด 15.เร่งการประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นให้ผลไม้ไทยผ่านการทำสื่อ 5 ภาษา อังกฤษ ไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี และ16.กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจะบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัดทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย
”ขอให้ทุกหน่วยงานราชการภาคเอกชนและเกษตรกรที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติโดยเคร่งครัดและทีมเซลล์แมนจังหวัด และทีมเซลล์แมนประเทศในการขับเคลื่อนผลไม้ไทยปี 2564 นี้”