องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เผยรายงาน “มัจจุราชเชื้อดื้อยาแฝงในแหล่งน้ำใกล้ตัวคุณ” (Silent superbugs killers in a river near you) พบเชื้อดื้อยาที่มีอันตรายต่อสุขภาพของคนอย่างรุนแรง ในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา สเปน และไทย เชื้อดื้อยาเหล่านี้มีต้นตอมาจากน้ำและของเสียที่ถูกปล่อยมาจากฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม ปนเปื้อนในแหล่งน้ำสาธารณะและสิ่งแวดล้อมรอบฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งอาจสร้างผลเสียอย่างรุนแรงในวงกว้างหากยังไม่เร่งแก้ไข รายงานชิ้นนี้ทำการสำรวจแหล่งน้ำรอบๆฟาร์มหมูอุตสาหกรรมใน 4 ประเทศ พบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเป็นจำนวนมาก โดยในประเทศไทยพบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรง ได้แก่ colistin plus co-trimoxazole, gentamicin, amikacin, trimethoprim-sulfamethoxazole หรือ amoxicillin ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้เปรียบเสมือนปราการด่านสุดท้ายที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อทั่วไปและผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อชีวิตจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ในกรณีที่ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นใช้ไม่ได้ผล การเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในฟาร์มอุตสาหกรรม มีสาเหตุหลักมาจากการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีสวัสดิภาพ สัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะถูกขังอยู่ในกรงอย่างทุกข์ทรมาน เช่น แม่หมูถูกขังอยู่ในกรงแคบๆ ลูกหมูโดนตัดตอนอวัยวะอย่างโหดร้าย สร้างความเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างมาก รวมถึงการถูกแยกจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก วิธีการเหล่านี้ก่อให้เกิดความทรมานอย่างที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งนำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ที่เต็มไปด้วยความเครียดเหล่านี้เจ็บป่วย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มระบบอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงได้ทำการรณรงค์เพื่อห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์ม ซึ่งก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาและปนเปื้อนไปยังสิ่งแวดล้อม วิกฤติเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ หรือซุปเปอร์บั๊กส์ (Superbugs) ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 โดยปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากซุปเปอร์บั๊กส์ไปแล้วกว่าปีละ 700,000 คน ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 38,000 คน หรือทุกๆ 15 นาที จะมีผู้เสียชีวิต 1 คน และมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อซุปเปอร์บั๊กส์สูงถึงปีละ 10 ล้านคนในปี พ.ศ. 2593* ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลกได้เสนอแนะว่ายาปฏิชีวนะไม่ควรถูกใช้เพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์ม แต่อย่างไรก็ตามวิธีการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอย่างโหดร้ายทำให้ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้มากถึง 75% ทั่วโลก ** ในประเทศไทยผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่หยุดแค่เพียงสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม แต่ยังกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยใกล้แหล่งฟาร์มอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย โดยคำบอกเล่าจากเกษตรกรรายหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้กล่าวถึงผลกระทบว่า “ข้าวในไร่ไม่ค่อยได้ผลผลิต เพราะในน้ำมีพวกน้ำยาสารเคมีหรือขี้หมูเยอะ เมื่อปล่อยน้ำที่มีสารปนเปื้อนลงมาในนา ข้าวได้รับความเสียหายหรือไม่ก็ตาย เพราะมีสารพิษในระบบนิเวศ ปลาก็แทบอยู่ไม่ได้เพราะน้้ำมีค่าความเค็มสูง และเคยร้องเรียนไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ทางด้านสหภาพยุโรปได้มีการประกาศการใช้ยาปฎิชีวนะแบบรวมกลุ่มเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญและประเทศอื่น สมควรปฏิบัติตามด้วยเช่นเดียวกัน องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐมีนโยบายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์ม ตลอดจนให้ฟาร์มในระบบอุตสาหกรรมได้พัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐานขั้นต่ำของการเลี้ยงสัตว์ฟาร์ม (FARMS) ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก สำหรับแนวทางแก้ไขวิกฤตเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์ของประเทศไทยนี้ นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่าในประเทศไทยจะมีการจัดตั้งแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่การพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมกลับยังไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร เราเชื่อว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะการใช้เพื่อรักษาสัตว์ที่ป่วยแบบรายตัว แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่ม ซึ่งมีต้นตอจากสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มที่ย่ำแย่” องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ขอเชิญชวนลงชื่อเพื่อร่วมผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนมีนโยบายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์มรวมถึงยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/Ban-AMR