อธิบดี พช. - ผบ.นทพ. ประสานเสียงชื่นชม “โคก หนอง นา วังอ้อ พระนำชุมชนอยู่รอดตามหลัก “บวร”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และพลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วย คณะผู้บริหารจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ณ ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พลตรี นำพล คงพันธ์ ​​​ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ นพค. 51-56 ผู้บัญชาการหน่วยพัฒนาการพิเศษ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นายวิลาศ บุญโต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน พัฒนาการอำเภอ ทั้ง 25 อำเภอ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนนายอำเภอเขื่องใน หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และเจ้าของแปลงตัวอย่าง โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการฯ

เนื่องในโอกาสอันเป็นมงคลในวันวิสาขบูชา ได้รับความเมตตาจากท่านพระครูสุขุมวรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ในฐานะพระนักพัฒนาที่ช่วยเหลือและสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนตลอดมา ตามหลัก “บวร” ได้กล่าวแสดงสัมโมทนียกถา และนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการฯ ของศูนย์ฯ ว่า “สำหรับ “โคก หนอง นา วังอ้อ โมเดล” (พระทำ) แห่งนี้เป็น ผืนนา มรดกของพ่อกับแม่ มีพื้นที่ 6 ไร่ แบ่งเป็น “โคก” 2 ไร่ ปลูกป่าสามอย่าง คือ ป่าพอกิน ป่าพอใช้ และ ป่าพออยู่ เพื่อประโยชน์สี่อย่าง คือ ประโยชน์ได้กิน ได้ใช้ ได้มีความร่มเย็นเป็นสุข และได้ป้องกันการชะล้างหน้าดิน ให้ออกซิเจน ให้อาหาร ให้อากาศ ให้อาวาส ให้อารมณ์ ให้บรมธรรม แก่ผืนป่า ส่วน “หนอง” หรือสระน้ำ มีเนื้อที่ 3 งาน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ ในการเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และ “นา” มี 3 ไร่ 1 งาน สำหรับปักดำข้าวอินทรีย์ ขยายพันธ์ข้าว ปิ่นเกษตร+4 กับ ข้าวสินเหล็ก แจกจ่ายชาวบ้าน เกษตรกร และเครือข่ายอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นการรักษาพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของท้องถิ่น โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา พื้นที่แห่งนี้ ยังใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นตัวอย่างให้กับครอบครัว ชุมชน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือความพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เป็นความมั่นคงขั้นพื้นฐาน และจักขยาย เป็นความมั่นคงขั้นก้าวหน้า คือบุญ ทาน เก็บขาย เป็นความร่วมมือของ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ และที่สำคัญ คือจิตวิญญาณ ในการเข้าถึง ศาสตร์พระราชา และธรรมะขององค์สมเด็จ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อาทิ ความสันโดษ ความอดทน ความเพียร ความสามัคคี ความมีน้ำใจ ความซื่อสัตย์ สุจริต จิตอาสา ในส่วนของการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." จังหวัดอุบลราชธานี นั้นได้ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี ทีม SAVEUBON ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ป่าดงใหญ่วังอ้อ และกรมการพัฒนาชุมชน ในการขับเคลื่อนโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 25 แปลง และยังเป็นสถานที่จัดฝึกอบรมโครงการฯ กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา ทั้งสิ้น 16 รุ่นๆ ละประมาณ 100 คน โดยยังเหลือค้างอีก 7 รุ่น เนื่องจากติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้มีการปิดการฝึกอบรมรุ่นล่าสุด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา และถ้าหากสถานการณ์คลี่คลายคงได้ดำเนินการต่อไป”

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้พบปะและมอบแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ว่า “ขอให้มั่นใจในแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าเป็นของจริง เหมือนคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะท่านได้พระราชดำเนินไปในพื้นที่หลากหลาย และในมือท่านมีแผนที่ เดินทางไปหาความจริง และนำความจริงมาประยุกต์ใช้มาปฏิบัติ และมาแนะนำทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ เช่น หลุมขนมครก ท่านก็สังเกตว่าในนาก็มีหนองน้ำ ทุ่งนาที่เป็นแอ่งเล็ก กลายเป็นที่เก็บน้ำได้ มีปลา มีพืช พระองค์ท่านก็ให้ประยุกต์ จนมาถึงโครงการแก้มลิง และจากที่พระองค์ท่านเสด็จไปตามป่าตามเขา การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือปลูกไม้ 5 ระดับ จากภูผา สู่มหานที ก็คือจากแม่ฮ่องสอน จนถึงอ่าวไทย ล้วนแล้วแต่ก็เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านนำมาเป็นทฤษฎีใหม่เพื่อพวกเรา รวมถึงเรื่องของการนำเอาทฤษฎีใหม่ ให้ของที่คนมองว่าเป็นภาระ มาช่วยให้เป็นประโยชน์ เช่น น้ำเน่าเสียเป็นโทษ ผักตบชวาก็เป็นโทษ แต่ผักตบชวาช่วยทำให้น้ำดีขึ้น เหมือนกันกับที่พระพุทธเจ้า ดำเนินไปมาในชมพูทวีป เมื่อเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก ก็ต้องหาคำสอนมาช่วยคน นับเป็นบุญของพวกเราที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ ในการสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเรื่องที่เรากำลังทำกันอยู่ คือเชื่อในแนวความคิด และศรัทธาว่าจะทำให้ชีวิตของประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่มีพืชผักมากมาย มีข้าว มีปลา สามารถเลี้ยงดูคนได้ เรามองว่าเป็นของจริง ขอบคุณที่ช่วยในการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นโคก เป็นหนอง เป็นนา ซึ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า จังหวัดอุบลราชธานี ก็จะมีพื้นที่ ป่า 5 ระดับที่มีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพิ่มขึ้น หาก 1 ไร่ มีเพิ่มขึ้น 1 พันต้น ถ้า 3,960 แปลง ก็จะเพิ่มเป็นล้านต้น ในอีก 3 ปีข้างหน้า และจะช่วยทำให้ดินฟ้าอากาศดี ทำให้พื้นที่มีความชุ่มชื้น ต้องขอขอบคุณทางรัฐบาลที่ได้จัดสรรงบประมาณมาให้พวกเรา ได้ช่วยให้ครัวเรือนต้นแบบมีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน ช่วยให้เราเผื่อแผ่เพื่อนบ้าน ช่วยให้เราเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เหมือนที่หลวงพ่อสุขุม วรรโณภาส ที่เป็นปราชญ์ให้วิชาให้ความรู้ ให้พื้นที่ทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้ความช่วยเหลือคนในประเทศนี้ ถ้าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงทราบ ท่านจะต้องดีใจ เพราะพระราชปณิธานได้เกิดขึ้นจริง ในเรื่องของทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงได้แปลงแนวคิดเป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ และทรงเชื่อมั่นว่าถ้าพวกเราน้อมนำเอาทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา จะทำ จะทำให้ครอบครัว พวกเรามีชีวิตที่มีความสุข ดังนั้น ผมจึงขอแสดงความยินดีกับเจ้าของแปลง พี่น้องพัฒนาชุมชน และ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่ได้มาทำหรือเรียนรู้ แบบ learning by doing ซึ่ง นพต. ก็ได้เรียนรู้จากการได้ช่วยเหลือเจ้าของแปลง และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ก็ได้ติดต่อสื่อสารระหว่าง พช. กับเจ้าของแปลง จึงขอให้ตักตวงสิ่งที่ดีๆ ที่เป็นประโยชน์และนำเอาไปใช้ในการทำฐานการเรียนรู้ ซึ่งสามารถพลิกแพลงได้ เช่น ฐานคนมีไฟ ก็ทำได้ทั้งโซล่าเซลล์ ทั้งพลังงานชีวมวลมหรือทำให้เกิดพลังงานได้ สุดท้ายนี้ ขอฝากท่าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ที่คอยช่วยเหลือเจ้าของแปลง ช่วยเหลือ นพต. ในการเอามื้อสามัคคี ขอให้ช่วยกันทำให้ โคก หนอง นา ขยายวงกว้างขึ้น และช่วยให้เจ้าของแปลงมีความสุข ความภาคภูมิใจ อยากฝากถึงเจ้าของแปลง ขอให้ทำถังขยะลดโลกร้อน ถังขยะเปียก เพื่อเป็นการลกขยะ ลดการปล่อยก๊าซ โดยให้ขุดหลุมเอาถังฝัง เอาเศษอาหาร เศษใบไม้ เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นปุ๋ย ถ้าทุกคนช่วยกันก็จะลดขยะเปียก ลดโลกร้อนได้มาก สุดท้ายนี้ ขอแสดงความยินดีและความห่วงใย ขอให้ทุกท่าน ขยันขันแข็ง สมกับที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ขอให้ช่วยทำพื้นที่ต้นแบบให้ดี เพื่อให้คนในบ้านได้ทำได้กินได้ใช้จากแปลงด้วย ซึ่งคนในบ้านทุกคน ก็ควรให้ความสนใจ ช่วยกันดูแลแปลงให้เจริญงอกงาม ยิ่งขึ้นไปด้วย” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว

ด้าน พลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้เปิดเผยในระหว่างการตรวจเยี่ยมฯ ครั้งนี้ว่า “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” เป็นนโยบายสำคัญของทางรัฐบาล โดยความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนหน่วยงานภาคีในระดับพื้นที่ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมและได้รับความรู้มานั้นจะต้องน้อมนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ หากมีปัญหาก็ต้องปรึกษาหารือร่วมกันและช่วยกันแก้ไขปัญหาทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่ายทุภาคส่วน ที่มาในวันนี้ เพื่อประโยชน์กับประชาชนได้มาเรียนรู้ทักษะ โดยเฉพาะการฝึกปฏิบัติตามที่ตนเองสนใจและอยากเรียนรู้ นำไปสู่การดำรงชีวิต ถ้าประชาชนมีความสุข ข้าราชการก็มีความสุขด้วย ซึ่งทางหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมติดตามสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ถือว่ามีความพร้อมและมีศูนย์เรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติ ในการขับเคลื่อนโครงการ “โคก หนอง นา” โดยมีศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน นอกจากนั้น ยังได้นำผลผลิตจากโคก หนอง นา ในพื้นที่ มาแบ่งปันให้ผู้อื่น เป็นการแสดงความเกื้อกูลและเอื้ออาทร จากการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้แก่ผู้ที่มีความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากสถานการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น พืชผักสวนครัว ไม้ผล ข้าวสารอาหารแห้ง และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ขอกราบขอบพระคุณท่านพระครูสุขุมวรรโณภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ รวมถึงขอบคุณท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่ให้โอกาส และทุกท่านที่มาร่วมให้การต้อนรับในวันนี้เป็นอย่างสูง” ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กล่าวด้วยความยินดี

ในช่วงท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และพลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมมอบผลผลิตจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ เพื่อเป็นมหากุศลแก่โรงทานเนื่องในวันวิสาขบูชา ตามคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา” Our Loss is Our Gain โดยพลังเครือข่าย (บวร) บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น ได้เยี่ยมชม การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “โคก หนอง นา พช.” รวมถึงปลูกต้นไม้และปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ (นพค.) พัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ และทีม SAVEUBON บริเวณรอบศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ แห่งนี้ด้วย อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี