พช.ประกาศผลสุดยอดผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2564 “ดงครั่งน้อย” ร้อยเอ็ด งานดีคว้าตำแหน่ง “ดีเลิศ” ต่อยอดเสริมแกร่ง สร้างพลังชุมชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างผู้นำชุมชน โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถของผู้นำชุมชน เพื่อกลไกในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในทุกระดับ เป็นกำลังหลักในการ “คิด ทำ นำ เปลี่ยน” สร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชนในการพัฒนาชุมชน ผ่านโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อบ่มเพาะพลังและความสร้างสรรค์ ในบริหารจัดการ กำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชน ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องในบริบทและภูมิสังคม ที่เห็นถึงรูปธรรมของการขับเคลื่อนภายใต้คติพจน์ (Motto) ว่า “1 หมู่บ้าน สามารถดูแลได้ทั้งตำบล สร้างความมั่นคงทางอาหาร บนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จากผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ 1,000 ตำบล โดย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดกิจกรรมคัดเลือกผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับดีเลิศอย่างเข้มข้น จากผู้นำ 76 จังหวัด คัดเลือกสู่รอบดีเด่น 18 ตำบล ใน 18 เขตตรวจราชการ และค้นหา the best of the best เพียง 1 ตำบลต้นแบบ หนึ่งเดียวระดับประเทศ โดย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาชุมชน ซึ่งได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาคี จำนวน 11 ท่าน อาทิ ดร.นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านที่ 17 ,นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ,พลตรีนพดล ปิ่นทอง รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ,นายคณิต ธนูธรรมเจริญ ข้าราชการบำนาญ ข้าราชการพลเรือนในสังกัดสำนักพระราชวัง ,นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ,รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น ตัดสินให้ ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด รับรางวัลเชิดชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเลิศ และรับงบประมาณสนับสนุน 1,000,000 บาท เพื่อนำไปต่อยอดเสริมความเข้มแข็ง ชุมชน ตำบล บูรณาการงานเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม และสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

กุญแจแห่งความเป็นเลิศของ ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด 1 ใน 193 ตำบล ของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นชุมชนแห่งการผลิตหอมมะลิอินทรีย์ ชั้นดีของโลก ที่มีทุนในชุมชนหลากหลาย ทั้ง ทุนมนุษย์ ทุนเงิน ทุนธรรมชาติ ทุนสังคม ทุนภายภาพ โดยนำทุนเหล่านี้มาเป็นปัจจัยในการพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้นำชุมชนร่วมกับประชาชน ภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน โดยยึดหลักการพัฒนา บวร (บ้าน วัด ราชการ) บรม (บ้าน ราชการ มัสยิด) ครบ (คริสต์ ราชการ บ้าน) ใช้พลังชุมชนในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน โดยผู้นำชุมชนทำก่อนเป็นต้นแบบ แล้วขยายผลไปทุกครัวเรือน จนเกิดผลสำเร็จใน 3 ด้าน โดยริเริ่มจาก ด้านสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในกิจกรรมขยายพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษ พิชิตโควิด – 19 และไม้ผลในบริเวณบ้านมากกว่า 10 ชนิด ที่ 1,755 ครัวเรือน หรือ 100% ของครัวเรือนในตำบลดงครั่งน้อย ทำให้ลดรายจ่ายได้อย่างน้อย 50 บาทต่อวัน และนำผลดีดังกล่าวขยายผลจากรอบรั้วบ้านตนเอง สู่การปลูกในพื้นที่สาธารณะรอบหนองน้ำ บริเวณพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานตามหัวไร่ปลายนา ในรูปแบบแปลงรวม ทำให้เกิดการเพิ่มรายได้ครัวเรือนละ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน จากผลผลิตสด และแปรรูป อาทิ น้ำผัก/ผลไม้เพื่อสุขภาพ สลัดโรล โดนัทจากแป้งข้าวหอมมะลิ สบู่ข้าวหอมมะลิ เป็นต้น นอกจากการสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แล้ว ยังก่อเกิดประโยชน์สาธารณะ ทั้ง 13 หมู่บ้านร่วมสร้างแหล่งอาหารด้วยการปลูกผักริมถนน 1 หมู่บ้าน 1 ถนนกินได้ ,ปลูกผักในวัด 8 แห่ง ,โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 10 แห่ง ,องค์การบริหารส่วนตำบลดงครั่งน้อย และสานต่อความมั่งคงในทุกหมู่บ้านด้วยการจัดตั้งธนาคารเมล็ดต้นกล้าพืชผัก

สำหรับในด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ชาวตำบลดงครั่งน้อยทุกครัวเรือน มีการจัดสุขลักษณ์ การปรับสภาพภูมิทัศน์ ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดย การบริหารจัดการขยะ กิจกรรมทำถังขยะเปียกรักษ์โลก ธนาคารขยะ การจัดสุขลักษณะในบ้านให้น่าอยู่ ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรม “เดือนละวันฉันและเธอ เป็นการร่วมกันพัฒนาหมุนเวียนไปทุกหมู่บ้าน” อาทิ การปรับสภาพภูมิทัศน์หมู่บ้าน ,การปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ ตลอดจนการเปิดโอกาสในทุกครัวเรือนร่วมวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปลูกป่าในที่สาธารณะ การดูแลรักษาแหล่งน้ำลำคลอง การใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานสะอาด นำน้ำมาใช้ในพื้นที่เกษตรอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นการประยุกต์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Model คือ การใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Bio Economy) เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 นี้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาสังคมได้อย่างสมดุล

ในส่วนของการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม นับสิ่งที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น โดยอาศัยการปฏิบัติศาสนกิจสำคัญทางศาสนาทุกครัวเรือน รณรงค์ “งานบุณ งานเศร้า ปลอดหล้า ปลอดบุหรี่” “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ยึดขนบธรรมเนียม ประเพณี ภูมิปัญญาที่งดงาม ทั้ง 12 เดือน เป็นการผสมผสานพิธีกรรมความเชื่อ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน ยึดเหนี่ยวให้คนในชุมชน มีความรัก ความเอื้ออาทร ผนึกกำลังเป็นเอกภาพ อีกทั้ง การต่อยอดนำผลผลิต พืช ผักสวนครัวจากทุกครัวเรือน รวมทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภค ตามกำลังศรัทธา นำมาร่วมจัดกิจกรรม “ปันรัก ปันสุข” 1 ครั้ง ทุกสัปดาห์ ทุกหมู่บ้าน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูล คนในชุมชน คนยากไร้ กลุ่มเปราะบางในสังคม บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสนามร้อยเอ็ด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) อีกด้วย เหล่านี้เป็นความสำเร็จส่วนหนึ่ง จากพลังของผู้นำชุมชนในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ร่วมกับชาวตำบลดงครั่งน้อย ได้บูรณาการกับทุกภาคีเครือข่าย ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมพัฒนา ร่วมติดตามอย่างครบวงจรในการขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ทำให้วันนี้ตำบลดงครั่งน้อย มีความมั่นคงทุกด้านนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริง

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแสดงความยินดี และชื่นชมในความเพียรพยายามสร้างสรรค์ชุมชนให้เข้มแข็งด้วยความรู้ คู่คุณธรรม สำหรับตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้รับการชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับดีเลิศ รวมตลอดถึงระดับดีเด่น 17 ตำบล และพื้นที่เป้าหมายทั้ง 1,000 ตำบล 15,000 คน ทั่วประเทศ ความสำเร็จของโครงการนี้นอกจากการเชิดชูเกียรติ สร้างแรงจูงใจต่อการขับเคลื่อนงาน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น Change for Good แล้ว ยังมีนัยยะถึงการเสริมสร้างพลังบวกพัฒนาผู้นำ โดยคุณค่าวัดจากความสุขที่สมดุลและยั่งยืนใน 4 มิติ เป็นอย่างน้อย ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นเวทีสรุปผลการดำเนินงาน และการประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเลิศ ผลงานการขับเคลื่อนเชิงคุณภาพดังกล่าว จะเป็นแบบอย่างในการถอดบทเรียนความสำเร็จ บนพื้นฐานของความสมดุลพอดี และความพอประมาณอย่างมีเหตุผล ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขยายผลเป็นแบบอย่างสร้างพื้นที่เป้าหมายทั้งหมดเป็นแหล่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และศูนย์แบ่งปันสร้างสรรค์นวัตกรรมชุมชน หนุนสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน อย่างเป็นรูปธรรมให้กระจายไปทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศไทย ที่สำคัญอย่างที่สุด คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลต่อไป

สามารถติดตามผลงานการประกวดเชิดชูเกียรติผู้นำการเปลี่ยนแปลงดีเลิศ โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประจำปี พ.ศ. 2564 ในรูปแบบคลิปวิดีโอ ทาง https://drive.google.com/drive/folders/1bEYZQHjMRDOCu9AAzaOuzzuQhRfYj8LT และในรูปแบบ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) ทาง http://anyflip.com/bookcase/pgqrf