รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ เข้าถึงตลาดภาครัฐที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปลายปี 2563 และในช่วงที่ผ่านมานอกจากการเดินหน้าประชาสัมพันธ์มาตรการให้ SME ได้รับรู้ในวงกว้างแล้ว สสว. ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ หาแนวทางช่วยลดอุปสรรคและเพิ่มโอกาสให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนดำเนินกิจการ “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีขั้นตอนบางส่วนที่ผู้ประกอบการต้องใช้เงินทุนล่วงหน้า เช่น เงินค้ำประกันซอง เงินค้ำประกันสัญญา หรือขั้นตอนการเบิกจ่ายที่ต้องรอระยะเวลาการตรวจรับจากหน่วยงาน และด้วยสถานการณ์ COVID-19 นี้ เงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องของ SME ได้ สสว. จึงได้ประชุมร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ซึ่งแต่ละธนาคารได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการสนับสนุนด้านสินเชื่อ Factoring รวมถึงสินเชื่อการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ เป็นกรณีพิเศษสำหรับผู้ประกอบ SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว.” ผอ.สสว. กล่าว สำหรับสินเชื่อที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของธนาคารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้น มีสิทธิประโยชน์ครอบคลุม อาทิ ได้รับเงินล่วงหน้าสูงสุดถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าลูกหนี้การค้า ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินสนับสนุนครอบคลุมทุกขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ระยะเวลากู้สูงสุด 365 วัน นอกจากยังมีบางธนาคารที่ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อพิเศษ สำหรับกลุ่ม SME และกลุ่ม Micro โดยเฉพาะ และบางธนาคารมีการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่ให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารได้ง่าย เป็นต้น โดยธนาคารที่ร่วมสนับสนุน SME ด้วยให้สินเชื่อดังกล่าว อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ ซึ่งจะมีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุน SME เข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต่อไป จากการสำรวจข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง ถึงเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ผู้ประกอบการ SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว. มีจำนวนประมาณ 50,000 ราย ในจำนวนนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นคู่ค้ากับภาครัฐได้สำเร็จแล้วไม่น้อยกว่า 9,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ คิดเป็นมูลค่างานจ้างประมาณ 127,910 ล้านบาท โครงการที่ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่เป็นเรื่องการรับเหมาก่อสร้าง และการจัดซื้อวัสดุสำนักงาน เป็นต้น อย่างไรก็ดี สสว. เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ SME สามารถเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น และสร้างรายได้ในตลาดภาครัฐเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาทภายในปี 2564 นี้ สำหรับ SME ที่สนใจจะขึ้นทะเบียนระบบ THAI SME-GP สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ที่ www.thaismegp.com ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป