นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 มีภารกิจเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน โดยเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจและอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคปัจจุบัน สศท. จึงต้องเร่งพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำการผลิต” คือพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีรูปแบบที่ร่วมสมัย สามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน และยังคงคุณค่าอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมไทยไว้ โดยมีฐานการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีจำนวนการผลิต ที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในราคาที่แข่งขันได้ เพื่อสามารถขยายกลุ่มผู้บริโภคไปยังวงกว้างมากขึ้น “สศท.เองทำหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ตรงใจตลาด มีราคาที่เหมาะสม สร้างให้สินค้ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ ส่วนที่เหลือกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาดูแลรับไม้ต่อ ในการหาตลาด ขยายช่องทางการค้าสู่ช่องทางใหม่ๆ ผ่านพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ที่จะเป็นกำลังสำคัญที่เป็นสื่อกลางที่จะนำผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมไทยภายใต้การดำเนินงานของ สศท. ให้มีโอกาสพบกับโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพด้านการส่งออกงานหัตถศิลป์ไทย ซึ่งนับว่ายังสามารถเปิดตลาดทั้งในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่มีความต้องการสินค้าประเภทศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์และสามารถใช้งานในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ของตกแต่งบ้าน โดยทูตพาณิชย์จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุน สรรหาความร่วมมือกับเครือข่ายภายนอกประเทศ เป็นพี่เลี้ยงให้ สศท. บริหารจัดการในรายละเอียดเรื่องการส่งออก การเจรจาธุรกิจและอื่นๆ เพื่อขยายตลาดงานศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลายและตรงกับรสนิยมการบริโภคในแต่ละภูมิภาคของโลก เพื่อยกระดับรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายสินิตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคการผลิตฐานรากก็เป็นสิ่งที่ สศท. ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการประกอบอาชีพและทำมาค้าขายในงานศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งในกลุ่มชาวบ้านผู้ผลิตศิลปหัตถกรรมในชุมชน และคนรุ่นใหม่ โดยจะต้องพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการ ที่มีศักยภาพในกลุ่ม Micro SME , SME พัฒนาไปสู่กลุ่ม Startup ทางด้านศิลปหัตถกรรมโดยเฉพาะภายใต้ชื่อ “Smart Craft CEO” โดยการพัฒนาผ่านการอัพสกิล (Up Skill) และ รีสกิล (Re-Skill) อบรมให้ความรู้ ในด้านต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่และการอบรมออนไลน์ เพื่อให้เกิดทักษะในการเจรจาค้าขายและส่งออก ด้านการบริหารธุรกิจ บัญชี ดิจิทัล และการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้ภาษาที่สองในการเจรจาต่อรอง โดยที่ผู้ประกอบการของ สศท. ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย มีการส่งเสริม ให้จดทะเบียนสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า การจดทะเบียน GI สำหรับงานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเกิดการติดอาวุธทางการค้า ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะฝีมือ ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจ การตลาดและการค้า รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้ในโลกธุรกิจยุคใหม่ การสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยหน่วยธุรกิจขนาดย่อยนี้เอง จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและกระจายรายได้ไปยังชุมชนและภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องเชื่อมโยงงานศิลปหัตถกรรมไปยังผู้คนทั่วโลกมากขึ้น ส่งเสริมการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ได้มอบแนวทางให้ สศท. พัฒนาแพลตฟอร์มการค้าสำหรับงานศิลปหัตถกรรมโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการเชื่อมต่องานศิลปหัตถกรรมไทยสู่ตลาดโลก ผ่านแพลตฟอร์ม “Thai Crafts Online : ไทยคราฟต์ออนไลน์” รองรับ E-Commerce แห่งชาติในอนาคต รวมทั้งการขยายช่องทางกับแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ หรือการจัดงานแสดงสินค้าแบบออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดการตลาดบูรณาการงานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำตลาดที่เน้นความทันสมัย การใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำการตลาดเชิงรุก การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งประสบปัญหาจาก COVID-19 ส่งผลให้การทำการตลาดต้องมีรูปแบบที่เน้นการบูรณาการเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Virtual Reality หรือการดำเนินการ ด้านการตลาด ไม่ว่าจะเป็น E-commerce หรือ VR-shop ซึ่งเป็นการพลิกโฉมหน้าการทำการตลาดรูปแบบใหม่ออกจากกรอบดั้งเดิมที่ดำเนินการอยู่ได้ รวมทั้งการทำการตลาดเชิงรุกกับพันธมิตรต่างประเทศ ในลักษณะการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ในขณะเดียวกันการปั้น Gen Z เป็น CEO เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นแม่ทัพทางธุรกิจในตลาดโลก นำรายได้จากการส่งออกกลับเข้าสู่ประเทศไทยได้ ให้กับกลุ่ม Gen Z ด้านงานศิลปหัตถกรรม พลังของคนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่ขายได้ ตอบเทรนด์ใหม่ๆที่ผู้บริโภคต้องการทั้งในและต่างประเทศ และยังให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ การสืบสาน ฟื้นฟูงานศิลปหัตถกรรมไทย พร้อมจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่และประชาชนคนไทย ทำให้เกิดการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังกลายเป็นอาชีพสร้างรายได้ที่มั่นคง เป็นการทำให้งานศิลปหัตถกรรมไทยอยู่คู่สังคมไทยตลอดไปอย่างแท้จริง ด้าน นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2564 ได้กำหนดให้สถาบันฯ ทำหน้าที่พัฒนาวงการศิลปหัตถกรรมไทยอย่างรอบด้านและครอบคลุมในทุกมิติ ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย การส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เปิดและขายตลาดผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์และการขายของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้แพร่หลาย การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการผลิต การเงิน การบัญชี และการตลาด ตลอดจนการสืบสาน ส่งเสริมคุณค่า ยกย่องเชิดชู รักษา พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ เกี่ยวกับภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย การสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้และวิธีบริหารจัดการวัฒนธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมไทย รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับครูศิลปหัตถกรรมไทย ผู้ประกอบการ บุคลากร และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับศิลปหัตถกรรมไทย ที่สำคัญยังต้องมีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย และการส่งเสริมและสนับสนุนการจดทะเบียนสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นของงานศิลปหัตถกรรมไทยด้วย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการจัดให้การประกวดแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทย การจัดแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ การมอบทุนเพื่อส่งเสริมผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย และการจับมือหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในระดับสากล ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และการเตรียมการคัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อมารองรับภารกิจดังกล่าว โดยคาดว่า ในต้นปี 2565 จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวองค์กรให้เป็นไปตาม พรฎ.กำหนดได้แล้วเสร็จ โดยในระหว่างนี้สถาบันก็เร่งขับเคลื่อนนโยบาย ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อวางรากฐานและเตรียมความพร้อมก่อนจะดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบต่อไป “สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit (อ่านว่าศักดิ์สิทธิ์) จึงจะเป็นองค์กรเพื่อศิลปหัตถกรรมไทยของประเทศอย่างแท้จริง ให้ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมเกิดความเข้มแข็งในเวทีระดับสากล เกิดการสืบสานและต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้กลับมาสร้างรอยยิ้มและความกินดีอยู่ดี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภูมิปัญญาอันมีค่าที่น่าภาคภูมิใจและจะอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป” รักษาการ ผอ.กล่าวทิ้งท้าย.