วันที่ 11 กันยายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP กิจกรรมที่ 2 พัฒนารูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าชุมชนบ้านดอนกอยและเป็นตัวแทนมอบกี่พระราชทานจำนวน 4 หลัง แก่กลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย โดยมีนายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนายการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาและวิสาหกิจชุมชน (พช.) ในการนี้ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ นางสาวรติรส ภู่วิภาดาวรรธน์ รองประธานและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และทีมวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาดอนกอยโมเดล ด้วยการสร้างแบรนด์ การพัฒนาลายผ้า จากสำนักงานหม่อมไหมเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร หัวหน้าส่วนราชการ นางถวิล อุปรี ประธานกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านดอนกอยและสมาชิกให้การต้อนรับ และนำเยี่ยมชมนิทรรศการ ณ กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย จังหวัดสกลนคร และร่วมปลูกต้นอินทนิลรอบหนองน้ำสาธารณะ จากนั้น ร่วมปลูกต้นคราม ณ พื้นที่สร้างศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมคราม วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน และเยี่ยมชมป่าชุมชน เพื่อต่อยอดเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ รักษาภูมิปัญญาและอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นต่อไป โดยได้มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (covid-19) อย่างเคร่งครัด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า นับเป็นมิ่งมงคลยิ่งที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาที่ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาไทย ทรงพระราชทานแบบลายผ้าชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ รวมถึงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 คราวเสด็จเยี่ยมกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย หมู่ที่ 2 ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ทรงมีพระราชวินิจฉัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอบ้านดอนกอย ให้มีความทันสมัย สวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่ง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งพระทัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระพันปีหลวง ต่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดิน ที่สำคัญที่สุดทรงได้ออกแบบโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ที่จะใช้กับผลิตภัณฑ์ของดอนกอยที่มีอัตลักษณ์ สื่อความหมายลึกซึ้ง ในการใช้ภาพหัวใจ ที่ประกอบขึ้นจากใจด้าย เปรียบเสมือน เส้นสายของคนดอนกอยที่นำมามัดร้อยรวมกัน ด้วยความรัก ความสามัคคี ความปรารถนาดีต่อชุมชน อีกทั้ง ทรงมีพระดำริให้พัฒนาผ้าทอชุมชน เป็นชุมชนต้นแบบ เพื่อเป็นปฐมบทแห่งการพัฒนาในโครงการที่ชื่อว่า “ดอนกอยโมเดล” จากการออกแบบ รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาด้านการทอผ้า การย้อมคราม และการใช้สีธรรมชาติในการย้อมเส้นใยจากชุมชนบ้านดอนกอย มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย เป็นสากล สร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างรายได้แก่กลุ่มทอผ้าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้าลายขอเจ้าฝ้าสิริวัณณวรีฯ พบว่า มียอดขายมากกว่า 500 ล้านบาท และลายต่างๆ อีก 270 ล้านบาท ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น มุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน และจะนำโมเดลนี้ไปพัฒนาหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่านได้พระราชทานคำแนะนำแก่กรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงของการสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าครามและผ้าทออื่นๆ ที่เน้นใช้สีธรรมชาติ ไม่ใช้สีเคมี ก่อให้เกิดศูนย์เรียนรู้ วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นศูนย์รวบรวมเอาช่างทอและภูมิปัญญาเรื่องลายผ้าต่างๆ ที่ถูกพัฒนาต่อยอดอีกจำนวนนับร้อย โดยได้รับความกรุณาจากท่านผู้อำนวยการโรงเรียนดอนกอยที่ได้เสียสละพื้นที่ของโรงเรียน เพื่อเป็นศูนย์ฝึกและปฏิบัติงานของกลุ่มบ้านดอนกอยต่อไป นางสาวรติรส ภู่วิภาดาวรรธน์ รองประธานและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวว่า ในนามรองประธานและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มีความประทับใจกับชุมชนดอนกอย จังหวัดสกลนคร เป็นอย่างมาก ในเรื่องของกิจกรรมของกลุ่มการย้อมครามและการทอผ้า พระองค์มีพระทัยแน่วแน่ในการที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ของสมเด็จย่าให้มีความทันสมัยให้เข้าสู่ตลาดโลกอย่างจริงจัง พระองค์ทรงมุ่งมั่น ต่อยอดพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าและมีความทันสมัย พระองค์ทรงมีรับสั่งเสมอว่า ผ้าครามของชุมชนดอนกอย มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะถิ่น จึงขอให้ชุมชนมีความเชื่อมั่นในฝีมือการทอผ้า และพัฒนาลวดลายต่างๆ ให้มีคุณภาพ จนสามารถเเข่งขันเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างแน่นอน นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพผ้าของชุมชนบ้านดอนกอย โดยทรงพระราชทานกี่ทอผ้า จำนวน 4 หลัง ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นปฐมฤกษ์ในการมอบให้กับกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย จำนวน 4 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย 1) กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย 2) กลุ่มสร้างเสริมอาชีพบ้านดอนกอย 3) กลุ่มเยาวชนบ้านดอนกอย 4) กลุ่มทอผ้าบ้านคำประมง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทอผ้า ทำให้เส้นไหมคมชัด และสวยงาม เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ สามารถส่งผ่านเรื่องราวภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดการพัฒนาลายผ้า ออกแบบ การย้อมคราม และสีธรรมชาติอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย ร่วมสมัย ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเพิ่มมากขึ้น จากฝีมือของช่างทอผ้าทุกท่าน เพื่อเป็นต้นแบบและทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทยให้ดำรงไว้ในแผ่นดิน.