นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เปิดเผยว่าสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit มีความมุ่งมั่นในการต่อยอดภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์ พร้อมสร้างความยั่งยืนแก่งานศิลปหัตถกรรมไทยด้วยการทำงานเชิงรุกและปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา sacit ได้มีการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาดั้งเดิมและภูมิปัญญาร่วมสมัยจาก ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยที่เป็นกลุ่มครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ พัฒนาสู่การสร้างระบบการศึกษาค้นคว้าข้อมูลงานศิลปหัตถกรรมไทยบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ SACICT Archive เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ฐานข้อมูลงานหัตถศิลป์ งานนวัตศิลป์ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้และชุมชนหัตถกรรม ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และอ้างอิงในเชิงประวัติศาสตร์ ตลอดจนสื่อหนังสือและสื่อวีดิทัศน์ที่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากทุกมุมโลก ปัจจุบัน SACICT Archive ให้บริการข้อมูลผลงานศิลปหัตถกรรมไทยทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย จากการสร้างสรรค์ของครูฯ - ทายาทฯ ที่ได้รับการเชิดชูจาก สศท. ใน 10 กลุ่มงานหัตถกรรม คือ งานเครื่องทอ เครื่องดิน เครื่องจักสาน เครื่องไม้ เครื่องโลหะ เครื่องหนัง เครื่องกระดาษ เครื่องหิน เครื่องรัก และงานหัตถกรรมประเภทอื่นๆ รวมมากกว่า 2,500 ชิ้นงาน โดยแบ่งการให้บริการข้อมูลและองค์ความรู้ใน 5 หมวดหมู่คือ งานศิลปาชีพ งานศิลปหัตถกรรม ผู้สร้างสรรค์งาน แหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรม และสื่อต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้องค์ความรู้และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย ให้สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยต่อไป นอกจากนี้ SACICT Archive ยังเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับแนวทางการจัดระบบและฐานข้อมูลตามยุทธศาสตร์ชาติที่มีการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูล Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกในหลากหลายมิติ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างรอบด้าน อาทิเช่น นักเรียนนักศึกษาสามารถศึกษาค้นคว้าและวิจัย นำองค์ความรู้มาต่อยอด ผสมผสานเกิดเป็นงานหัตถศิลป์ใหม่ ๆ , ชาวบ้านและชุมชนสามารถนำข้อมูลองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาตนเองและผลิตภัณฑ์ ช่วยสร้างโอกาส สร้างรายได้ , ผู้บริโภคและประชาชนสามารถเข้าถึงช่องทางงานศิลปหัตถกรรมไทยและร่วมสนับสนุนใช้ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทย เกิดการกระจายรายได้แก่เศรษฐกิจฐานราก , นักลงทุนและผู้ประกอบการ โอกาสทางธุรกิจด้านศิลปหัตถกรรม สร้างตลาดงานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นจุดเริ่มต้นการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ในการนำองค์ความรู้ด้านศิลปหัตถกรรมไปศึกษาต่อยอดอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตและรูปแบบความต้องการของคนในสังคม ผอ.พรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับปี 2564 นี้ มีผู้เข้าใช้งานระบบสืบค้นข้อมูลศิลปหัตถกรรม (SACICT Archive) ผ่านทางเว็บไซต์ “archive.sacict.or.th” จากทั้งในและต่างประเทศแล้วมากกว่า 20,000 คน รวมมากกว่า 60,000 ครั้ง ระบบนี้จึงนับเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่มีการนำนวัตกรรมบริการดิจิทัลมาบูรณาการกับฐานข้อมูลองค์ความรู้ทางศิลปหัตถกรรมไทย และถือเป็นช่องทางหลักที่ sacit ให้บริการองค์ความรู้แก่สังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรักษาและต่อยอดองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมอย่างยั่งยืน”