กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยกลไกการจัดซื้อภาครัฐ
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังพบการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และลดการแพร่ระบาดของเชื้อแล้ว แต่ผมก็อยากให้ทุกท่านยังคงระมัดระวังตัว และรักษาวินัยต่อตนเองและสังคม เพื่อเป็นปราการต้านโรคโควิด-19 ที่เราจะร่วมด้วยช่วยกันได้คนละไม้คนละมือครับ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2563 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ Gross Domestic Product (GDP) หรือจีดีพีของไทย อยู่ที่ -6.1% แต่ในปีนี้ เราอาจยังพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง เพราะล่าสุด สภาพัฒน์ได้คาดการณ์ว่าจีดีพีของปีนี้จะขยายตัว ราว 1.5-2.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากปีก่อน
โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่สอดคล้องกับการเร่งฉีดวัคซีนของหลายๆ ประเทศทั่วโลก และแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ หรือ Government Spending (G) ที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของจีดีพี ได้แก่ 1.Consumption (C) มูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป 2.Investment (I) มูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชน 3.Government Spending (G) ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการ หรือการลงทุนในโครงการต่างๆ 4.Export (X) มูลค่าการส่งออก และ 5.Import (M) มูลค่าการนำเข้า โดยจีดีพีถือเป็นตัวบ่งบอกถึงมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศ และสามารถคำนวณได้จากสูตร GDP = C + I + G + (X - M)
เมื่อเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนจีดีพีที่มีอยู่ 5 ส่วนก็เริ่มทำงานติดขัด เช่น (C) หรือมูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลงตามรายได้และกำลังซื้อ และ (I) หรือมูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำเพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจในเสถียรภาพของเศรษฐกิจในยุคโควิด-19
ดังนั้น ในภาวะฝืดเคืองเช่นนี้ ไอเท็มลับที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการและหยิบมาใช้ได้ทันทีเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจภายในประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ คือ (G) หรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยปรับให้ส่วนราชการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุและสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยจากทั้งนักธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจทั่วประเทศแทนการนำเข้า โดยแต่ละปีงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท
จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะกระจายเม็ดเงินเหล่านี้ให้ถึงมือผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจโดยไม่ขัดต่อกติกาการค้าสากล
แนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายของภาครัฐและแนวคิดการเพิ่มการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ (Economic Self-Reliance) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้แบบเฉพาะกิจเพื่อรักษาความแข็งแรงของระบบเศรษฐกิจในประเทศ เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศว่ารัฐบาลกลางของสหรัฐจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตในประเทศเท่านั้น เพื่อผลักดันให้สหรัฐเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกและเพิ่มการจ้างงานสำหรับชาวอเมริกันอีกกว่า 1 ล้านคน
นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีคำสั่งระงับการขึ้นทะเบียนนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสาร อาทิ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ลำโพงบลูทูธ และหูฟังไร้สาย เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีนัยสำคัญเพื่อส่งเสริมให้อินเดียเป็นผู้นำด้านการประกอบชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนในเอเชียใต้ และจูงใจให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติหันมาลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสารในอินเดีย
สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อรายได้หลักจากต่างประเทศที่เคยพึ่งพา ทั้งจากการส่งออกและการบริการลดน้อยลง เราจึงต้องหันมาบริหารกระแสเงินสดภายในประเทศให้หมุนวนหลายๆ รอบเพื่อกระจายไปถึงทุกภาคส่วนโดยถ้วนหน้า จึงเป็นที่มาของนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการบริโภคสินค้าภายในประเทศผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ
โดยมี 2 มาตรการสำคัญ คือ 1.THAI SME-GP สำหรับเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รับผิดชอบโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ 2.Made in Thailand (MiT) เป็นการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ไม่น้อยกว่า 40% ในการผลิต รับผิดชอบโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหน่วยงานพิจารณาออกใบรับรอง
โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เริ่มใช้มาตรการ Thai SME-GP และ Made in Thailand (MiT) ในการจัดซื้อจ้างวัสดุ-ครุภัณฑ์ในสำนักงาน อีกทั้งยังได้กระจายนโยบายดังกล่าวไปยังศูนย์ภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ โดยทั้ง 2 มาตรการนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ด้านราคาสำหรับผู้ประกอบการไทยในกรณีแข่งขันกับบริษัทต่างชาติเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการผลิตในประเทศ และยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการส่งต่อเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งอีกด้วย
ท้ายที่สุด แม้อาจเกิดเสียงวิจารณ์ว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐจึงเลือกซื้อสินค้าราคาสูง แต่การใช้จ่ายเงินของภาครัฐเพื่ออุดหนุนสินค้าไทย ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย ย่อมเป็นการช่วยกักเก็บเงินให้ไหลกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและห่วงโซ่การผลิต เกิดการจ้างงานและการบริโภค เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยพยุงผู้ประกอบการไทยให้ก้าวพ้นวิกฤตในตอนนี้ไปได้ ผ่านการนำเงินในส่วนของภาครัฐที่เปรียบได้กับเงินเก็บก้นถุงมาอุดหนุนธุรกิจในประเทศให้สามารถพลิกฟื้นกลับมาแข็งแกร่งได้ในเร็ววันครับ
ขอบคุณข่าวจาก : หนังสือพิมพ์มติชน