หยุดท่วม หยุดแล้ง ด้วย “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน “

วันที่ 29 กันยายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย (พช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วม 2564 พายุเตี้ยนหมู่ เกิดฝนตกหนัก ถล่ม 40 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้เกิดน้ำท่วม พื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สร้างความเดือนร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก แต่ยังมีพื้นที่ที่สามารถรอดพ้นจากภัยวิกฤตเตี้ยนหมู่ในครั้งนี้ได้ ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ “โคก หนอง นา” โดย “โคก” สามารถป้องกันน้ำจากภายนอกที่จะเข้ามาท่วมในพื้นที่ได้ “หนอง” ทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอตลอดปี “นา” สามารถเป็นพื้นที่ในการรองรับน้ำได้ เนื่องจากยมีคันนาสูง เปรียบเสมือนเขื่อนกักเก็บน้ำ และยังเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคง ด้านอาหาร “คันนาทองคำ” ในช่วงวิกฤตภัยน้ำท่วม นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งปันอาหาร ให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย


ดังตัวอย่างพื้นที่ แปลงของนายอดิรุจ แสงชัย ผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” บ้านโคกกระมือ หมู่ 5 ตำบลวังใหญ่ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย ได้เข้าร่วมโครงการฯ กับกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2563 สามารถรอดพ้นจากภัยน้ำท่วม ในขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงประสบภัยน้ำท่วม

แปลงของนางปราณี คุ้มทรัพย์ ที่อยู่ ตำบลน้ำทรง พยุหะคีรี จังหวัดนครสรรค์ พื้นที่ชุมชนต้นแบบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” CLM ขนาด 15 ไร่ แปลงพื้นที่โคก หนอง นา สามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตรตลอดทั้งปี ลดปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งพื้นที่ในการสร้างฐานเรียนรู้ เป็นพื้นที่สูง (โคก) น้ำท่วมไม่ถึง สามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ข้างเคียง ในการบริหารจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี

แปลงของนายสมหมาย พันพะม่า ที่อยู่ ตำบลประดู่ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ พื้นที่ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้อย่างดี ลดความเสียหายจากน้ำท่วม

แปลงของนางน้ำค้าง คำจันทร์ ที่อยู่ ตำบลห้วยสะแก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” HLM ขนาด 3 ไร่ สามารถทำให้รอดพ้นจากอุทกภัย

อธิบดี พช. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” เป็นรูปแบบหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำ จัดการพื้นที่ “สามารถรอดพ้นจากน้ำท่วม และมีน้ำเก็บเต็มหนองไว้ใช้ประโยชน์และรองรับภัยแล้งในปีหน้าได้” เป็นทางรอดพ้นวิกฤตมหาอุทกภัย ภัยพิบัติน้ำท่วม และยังสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีพื้นที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างโอกาสในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือนร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน เป็นแหล่งพักพิงในยามวิกฤตได้ เป็นการทำให้ชุมชนมีความสามารถในการพึ่งตนเอง สามารถเผชิญกับวิกฤต ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรง วิกฤตทางด้านโรคระบาด วิกฤตทางด้านความอดอยาก เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาชนมีความสุข.