วันนี้ (6 ต.ค.64) ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงข้อราชการสำคัญ โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงข้อราชการสำคัญเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของทุกจังหวัด ทุกกรม ทุกรัฐวิสาหกิจ โดยนำยุทธศาสตร์ชาติ แปลงสู่การจัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาในระดับพื้นที่ ด้วยการยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และร่วมทำ เพื่อให้การดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จ เกิดความเจริญของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชน ต้องคิดตลอดเวลาว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในวันนี้ มีความสุขในวันนี้ “สิ่งที่เราทำทั้งหมดจะเปลี่ยนทุกอย่างให้ประชาชนดีขึ้น” ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่สำคัญ ๆ มี 2 ส่วน ได้แก่ 1) การทำงานตามอำนาจหน้าที่ (Function) ซึ่งขับเคลื่อนงานภารกิจตามกฎหมาย และ 2) การขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ (Area) โดยต้องเป็นแกนในการบริหารราชการแผ่นดินของทุกกระทรวง กรม ในระดับพื้นที่ สร้างความร่วมมือ บริหารจัดการและบูรณาการงานทุกเรื่องในพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายข้อราชการสำคัญ ได้แก่ 1) การดำเนินงานคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำคู่มือการปฏิบัติเพื่อให้การขับเคลื่อนลงไปสู่ระดับพื้นที่ได้ โดยนำเป้าหมายจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TP Map) มากำหนดแนวทางการดำเนินงานกลไกในพื้นที่ 2) ด้านการบริหารจัดการสถานการณ์สาธารณภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ติดตามสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ครอบคลุมทุกภัย ทั้งอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม ภัยหนาว ภัยแล้ง และสั่งการ ติดตาม แจ้งเตือน เตรียมการ ทั้งบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่ และกำกับการปฏิบัติ รวมทั้งดำเนินมาตรการด้านการป้องกันภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านงบประมาณ เพื่อสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ ให้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้พี่น้องประชาชนกลับไปมีชีวิตปกติให้เร็วที่สุด ทั้งการจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน การบูรณาการทุกกลไกในระดับพื้นที่ และประชาชนจิตอาสา เข้าให้ความช่วยเหลือและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาธารณภัยและการปฏิบัติตนของประชาชน 3) การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องบูรณาการประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทุกหน่วยงาน ร่วมกันสร้างจิตสำนึกประชาชนในการทิ้งขยะในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อให้บ้านเมืองมีความสะอาด สวยงาม 4) การบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยดำเนินการสำคัญ 3 ด้าน คือ ด้านการป้องกัน โดยรณรงค์ประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Prevention 10 ประการ ได้แก่ 1. ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น 2. ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีและผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน 3. เว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตรในทุกที่ 4. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา 5. หลีกเลี่ยงสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่ใส่อยู่ 6. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 7. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ลูกบิดประตู รีโมท หรือจุดที่ต้องเอามือไปจับบ่อยๆ อยู่เสมอ 8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกอย่าง 9. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น และ 10. ถ้าสงสัยว่าไปเสี่ยงรับเชื้อ ตรวจกับชุดตรวจ ATK ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการขอความร่วมมือผู้ประกอบการดำเนินมาตรการ COVID-Free Setting (มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร) เพื่อให้เกิดความปลอดภัย สามารถเปิดพื้นที่การท่องเที่ยว เสริมสร้างเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และการจัดการขยะติดเชื้อ ซึ่งมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดการขยะติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ 5) การดำเนินการจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ รวมถึงใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้มาบังคับใช้ เพื่อสวัสดิภาพของประชาชน 6) การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) 7) การเตรียมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม 8) การจัดการผักตบชวา โดยสนับสนุนการดำเนินงานเก็บเล็กของประชาชนและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานกรมโยธาธิการและผังเมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามมาตรการกำจัดผักตบชวาในแหล่งน้ำแต่ละประเภท 9) การบริการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ่อมแซมถนนหนทางหลังสถานการณ์อุทกภัย โดยให้กระทรวงมหาดไทยประสานทุกจังหวัดเร่งสำรวจและจัดทำคำของบประมาณเพื่อซ่อมแซมถนนในท้องถิ่นตามสภาพความเป็นจริง 10) การนำสายไฟฟ้าและสายสาธารณูปโภคต่าง ๆ ลงดิน และ 11) การเตรียมการบริหารจัดการสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน เพื่อลด PM2.5 ในช่วงปลายปีนี้ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ 1) การจัดการด้านการพัฒนาผังเมืองจังหวัด ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนา โดยส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake Holder) ในพื้นที่ เข้ามาประชุมให้ความเห็นมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่นั้น ๆ ตามความต้องการที่แท้จริงของประชาชน 2) เรื่อง OTOP ขอให้จังหวัดมีส่วนร่วมในการสร้างช่องทางส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถนำสินค้าจำหน่ายได้ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ลงไปส่งเสริมพัฒนาให้องค์ความรู้ในการพัฒนาช่องทางและผลิตภัณฑ์ให้กับประชาชนเพื่อสามารถจำหน่ายสินค้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และ 3) การแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำพื้นที่รองรับน้ำและนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอฝากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1) การจัดสรรงบประมาณจังหวัด กลุ่มจังหวัด และงบประมาณท้องถิ่น ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 2) เมื่อ ศบค. มีการผ่อนคลายมาตรการรวมกลุ่มของบุคคลให้สามารถจัดการฝึกอบรม-สัมมนาได้ ให้พิจารณาสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ ด้วยการจัดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร ผู้ประกอบ ในโรงแรมในพื้นที่ เพื่อให้เงินหมุนเวียนในจังหวัด 3) การเตรียมการบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยจังหวัดในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไป ต้องเตรียมรับมือสถานการณ์ ทั้งการพร่องน้ำ ทำที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล และสำรวจสถานที่รองรับน้ำ โดยเตรียมพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย และเครื่องสูบน้ำ 4) เข้มงวดกวดขันการปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมตัวกันของประชาชน เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 5) การฟื้นฟูเยียวยาประชาชนผู้ประสบภัยอย่างแม่นยำถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย และ 6) การจัดการน้ำเสีย โดยสำรวจสถานที่ในจังหวัดที่จำเป็นต้องจัดการน้ำเสีย และร่วมกับองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) จัดทำแผนแม่บทจัดการน้ำเสียในพื้นที่ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะได้นำนโยบายที่ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนการปฏิบัติร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์อุทกภัยซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจังหวัดปริมณฑลในการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์อุทกภัยต่อไป นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการในเรื่องที่มีความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การปฏิรูปประเทศโดยนำเอายุทธศาสตร์ชาติมาทำงานให้บังเกิดผลดีกับพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยสนับสนุนในเรื่องกิจกรรมปฏิรูปด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และการสร้างความเข้มแข็งการบริหารราชการระดับพื้นที่ มุ่งเน้นให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องการประเมิน “จังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูงในการทำงาน” จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเข้าร่วมการเข้ารับการประเมินผลการปฏิบัติงานที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ด้วยการกำหนดนโยบาย (Agenda) และประเด็นที่สำคัญ ที่จังหวัดจะใช้ในการพัฒนาเพื่อทำงานให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะได้มอบหมายหน่วยงานผู้รับผิดชอบแจ้งหลักเกณฑ์ให้จังหวัดดำเนินการต่อไป 2) ด้านการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนผ่านสื่อสารมวลชนว่ายังไม่ได้รับการดูแลหรือช่วยเหลือในพื้นที่ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด พัฒนาบุคลากรในจังหวัดด้านการประชาสัมพันธ์ รายงานข่าว และสื่อสารข้อมูลกับประชาชน จัดทำข้อมูลข่าวสารเพื่อประชาสัมพันธ์การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนของหน่วยงานในจังหวัด รวมถึงช่องทางการช่วยเหลือประชาชน และข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนร่วมกับกองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนส่วนกลางให้เกิดการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับภารกิจของทุกจังหวัดอย่างแพร่หลายต่อไป และ 3) ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ นำนโยบายต่าง ๆ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปขับเคลื่อนการปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณผู้บริหารระดับสูง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึงข้าราชการผู้ปฏิบัติทุกท่าน ที่ร่วมกันทำงานมาอย่างต่อเนื่องด้วยความเข้มแข็ง และทุ่มเท โดยฝ่ายการเมือง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมให้การสนับสนุนในทุกเรื่องเพื่อให้การขับเคลื่อนงานเกิดความสมบูรณ์ และจะได้มีการจัดประชุมติดตามการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญในทุกเดือนเพื่อจะได้ติดตาม ประเมิน หาแนวทางในการพัฒนางานเพื่อพี่น้องประชาชน โดยจะเปิดโอกาสให้ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคได้นำเสนอผลการดำเนินงานต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้กับข้าราชการในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดประชาชน ให้ขับเคลื่อนงานในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน อย่างเต็มกำลังความสามารถ.