นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ประสบความสำเร็จในช่วยผู้ว่างงานได้มีอาชีพและเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง ภายใต้นโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เห็นความสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs และ Micro-SMEs ผ่านการจัดกิจกรรมสร้างรายได้ด้วยแฟรนไชส์ ฝ่าโควิด-19’ หลังเดินหน้า 2 กิจกรรม แฟรนไชส์สร้างอาชีพ Road Show ในส่วนภูมิภาค 15 จังหวัดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และงาน MOC แฟรนไชส์สร้างอาชีพในส่วนกลาง ใช้ระบบแฟรนไชส์เป็นเครื่องมือเป็นทางลัดในการเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ การสร้างผู้ประกอบการขึ้นมานี้มีเจ้าของสินค้าหรือเจ้าของแฟรนไชส์คอยดูแลจับมือสอนสู่ความสำเร็จพร้อมกัน สร้างผู้ประกอบการในระบบแฟรนไชส์หน้าใหม่กว่า 10,000 ราย และสร้างเงินหมุนเวียนในประเทศกว่า 4.6 ล้านบาท โดยนายจุรินทร์ และนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญต่อการพลิกฟื้นและการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะไมโครเอสเอ็มอี และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก มาตรการสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์นำมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือผู้ที่ตกงาน คือ การนำธุรกิจแฟรนไชส์มาช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยข้อดีของการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นโมเดลธุรกิจที่ง่ายต่อการบริหารจัดการและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง เพราะผ่านการลองผิดลองถูกจากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มาก่อน มีอุปกรณ์การประกอบอาชีพให้ครบครัน มีความเสี่ยงน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนทำธุรกิจด้วยตนเอง และมีแนวทางการทำธุรกิจให้เดินตามอย่างชัดเจน เหมาะสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ โดย ธุรกิจที่เกิดงานได้ทันทีนั้นประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างต้นแบบแฟรนไชส์ หรือ Next B2B Franchise เป็นการสร้างองค์ความรู้ที่สำคัญแก่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่ต้องการต่อยอดเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ 2.สร้างมาตรฐานให้ธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) 3.เฟ้นหาสุดยอดแฟรนไชน์เพื่อเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์รายอื่น โดยการจัดการประกวด Thailand Franchise Award เป็นประจำทุกปี และ 4.การจัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนหน้าใหม่หรือผู้ที่ต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ มาเลือกลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่เหมาะสมกับตัวเอง เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายตลาดแก่ธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทซ กิจกรรมสำคัญในปีที่ผ่านมานั้น กระทรวงพาณิชย์ได้นำระบบแฟรนไชส์มาเป็นแนวทางช่วยเหลือและสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ที่ตกงาน หรือธุรกิจที่ต้องการจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้งภายหลังจากต้องปิดตัวลงไป เพื่อสร้างรายได้แก่ตนเองและครอบครัว ประกอบกับช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานรากให้กลับมาเติบโตได้ตามเป้าหมายของประเทศ ระบบแฟรนไชส์เป็นเครื่องมือที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จทางลัดได้ แม้ผู้ลงทุนจะไม่เคยมีความรู้ด้านการทำธุรกิจมาก่อน เนื่องจากเจ้าของแฟรนไชส์จะเป็นพี่เลี้ยงและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ซื้อ แฟรนไชส์ และเป็นที่ปรึกษาให้ตลอดการทำธุรกิจ ทำกิจกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Road Show ในส่วนภูมิภาค จำนวน 15 จังหวัด ซึ่งเป็นเมืองใหญ่และมีผู้ได้รับผลกระทบมาก เช่น อุดรธานี เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง สงขลา พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี เชียงราย สมุทรสาคร ชลบุรี ลำปาง ชัยภูมิ ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น และสมุทรปราการ โดยนำธุรกิจแฟรนไชส์เข้าร่วมงานครั้งละ 40 ธุรกิจ เริ่มจัดกิจกรรมระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 และ 2.จัดงาน MOC แฟรนไชส์สร้างอาชีพ ณ ศูนย์แสดงสินค้าในกรุงเทพฯ จำนวน 1 ครั้ง พร้อมนำธุรกิจแฟรนไชส์เข้าร่วมงานมากถึง 400 ธุรกิจ ระหว่างวันที่ 15-19 ธันวาคมรวม 5 วัน โดยทั้ง 2 กิจกรรมข้างต้นมีผู้สนใจเลือกซื้อแฟรนไชส์หลากหลายประเภทธุรกิจตามความสนใจ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม การศึกษา บริการ ค้าปลีก ความงามและสปา และพิจารณาขนาดการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้ มีงบการลงทุนให้เลือกตั้งแต่หลัก 1,000-1,000,000 บาท นางมัลลิกา ระบุว่า ก่อนหน้านี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ว่าที่ผ่านมามีผู้สนใจลงทุนซื้อแฟรนไชส์ทันทีกว่า 5,400 ราย และเป้าหมายวางไว้ภายใน 1ปีจะต้องครบ 10,000 ราย จะส่งผลให้มีการนำธุรกิจแฟรนไชส์ไปประกอบอาชีพหรือเรียกว่าแฟรนไชส์ซีกระจายอยู่ทั่วประเทศเข้าถึงชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 4,600 ล้านบาท ปัจจุบัน มีแฟรนไชส์ของคนไทยจำนวนกว่า 600 แบรนด์ มีสาขารวมกันกว่า 100,000 สาขาทั่วประเทศ และมีมูลค่าทางการตลาดกว่า 300,000 ล้านบาท และ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถยังสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 e-Mail : franchisedbd@gmail.com และ www.dbd.go.th