เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จัดการประชุมหารือ "แนวทางการสร้างความร่วมมือในการระดมทุนพัฒนา ววน. ของประเทศ" เพื่อร่วมกันหารือถึงโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อพัฒนาประเทศ รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษา ผอ.สกสว. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจสำคัญในการจัดทำนโยบายและแผนด้านวิทยาสาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ รวมถึงจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับ 9 หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (Program Management Unit : PMU) และหน่วยรับงบประมาณด้าน ววน. ต่าง ๆ โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นการหารือเกี่ยวกับแนวทางการสร้างความร่วมมือกับบริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Hitachi Energy และเห็นโอกาสในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มแหล่งงบประมาณในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์และภารกิจใหม่ของ สกสว. ซึ่งเดิมกองทุนเสริม ววน. ได้รับงบประมาณจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ แต่ภารกิจใหม่ของ สกสว. ยังได้ขยายโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการร่วมลงทุนเพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศอีกด้วย ทางด้าน ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director ของ Hitachi Energy กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีการดำเนินงานในหลายประเทศทั่วโลก เราเป็นบริษัทขนาดใหญ่ให้บริการดิจิตอลโซลูชั่นขั้นสูงสำหรับบูรณาการโครงข่ายไฟฟ้าและพลังงาน รวมทั้งเทคโนโลยีระบบส่งจำหน่ายไฟฟ้าแบบ DC Grid และ ระบบชาร์จประจุสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Quick Charge และเทคโนโลยี Vehicle to Grid (V2G) Hitachi Energy มีการดำเนินกิจการในหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมร้อยปีแล้วในนาม ABB Power Grid ในปี 2562 Hitachi ได้เข้าซื้อกิจการในส่วนของ Power Grid จาก ABB ภายใต้ชื่อ Hitachi ABB Power Grid และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Hitachi Energy มีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ในการร่วมประชุมหารือกับ สกสว. ครั้งนี้ Hitachi Energy เห็นโอกาสในการทำความร่วมมือกับ สกสว. และเครือข่ายการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการพัฒนาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน โดยใช้เป็นศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท นอกเหนือจากศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัทแม่ที่ตั้งอยู่ในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงและมีตลาดรองรับ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญของบริษัท เช่น ตัวเก็บประจุไฟฟ้าแรงต่ำ การผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า บริการหม้อแปลงไฟฟ้า และห้องปฏิบัติการน้ำมัน ให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภาคเอกชน อย่างไรก็ตามต่อจากนี้ ยังมีการศึกษาแนวทางการสร้างความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงรูปแบบการสนับสนุนทุน (Funding Modalities) ร่วมกับภาคเอกชนและกองทุนจากต่างประเทศ ขยายโอกาสในการร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป