สปสช.- กสศ.จับมือ แก้ปมเหลื่อมล้ำ ช่วยเด็กยากจนพิเศษ กลุ่มเปราะบางและครอบครัวกว่า 5.2 ล้านคน เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ ชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ควบคู่กับโอกาสทางการศึกษาอย่างครอบคลุม ทั่วถึง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสนับสนุนการจัดบริการทางด้านสุขภาพให้กับคนไทยทั่วประเทศ โดยมีสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อดูแลคนไทยทุกคนทุกสิทธิทุกวัย แม้ว่าที่ผ่านมาการบริการจะเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่ยังมีประชากรบางกลุ่ม อาทิ เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส รวมถึงคนในครอบครัวเป็นกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ จากความมุ่งมั่นของ สปสช. ในการขยายการเข้าถึงสิทธิและบริการตามชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ครอบคลุมและทั่วถึง และด้วยบทบาทของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชนในด้านทางการศึกษา นำมาสู่ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มเติมการดูแลด้านสุขภาพภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปพร้อมกัน “นับจากวันนี้ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมมือกันขับเคลื่อนเพื่อให้เด็กๆ และเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส รวมถึงคนในครอบครัวมีโอกาสเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการและชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ สู่การมีสุขภาพที่ดีควบคู่กับการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิตในอนาคต พร้อมกันนี้ สปสช.จะสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกระดับ อาทิ เครือข่าย อปท. ภาคประชาสังคม สปสช.เขต เพื่อมาร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษานี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. ให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มุ่งเหนี่ยวนำความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมช่วยเหลือเด็ก เยาวชนจากครัวเรือนยากลำบากร้อยละ 15 ล่างสุดของประเทศ อย่างตรงจุดเป็นรายบุคคล ในการทำงานที่ผ่านมาเราพบว่า สุขภาพที่ไม่ดี เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น ปัญหาทุพโภชนาการ หรือปัญหาผิดปกติทางสายตา จากข้อมูลพบว่าในบรรดาเด็กยากจนและยากจนพิเศษในช่วงอายุ 3-14 ปี มีกลุ่มที่ต้องได้รับการตัดแว่นอย่างเร่งด่วน จำนวนประมาณ 50,000-70,000 คน โดยที่ครอบครัวไม่เคยรู้เลยว่าเด็กมีปัญหาสายตา จากการทำงานร่วมกันของ กสศ. และหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษา 4 สังกัด ได้แก่ สพฐ. อปท. บช.ตชด. และ พศ. พบว่าในปีการศึกษา 2564 ประเทศไทยมีเด็กเยาวชนที่ครัวเรือนมีสถานะยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นสูงถึง 1,244,591 คน น้องๆกลุ่มนี้ อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,094 บาทต่อครัวเรือน หรือราว วันละ 36 บาท เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายปากท้อง สุขภาพ การศึกษา ของสมาชิกทุกคนในครัวเรือนย่อมไม่เพียงพอ จากฐานข้อมูลพบว่าจำนวนสมาชิกครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษทั้งหมดราว 5,228,536 คน โดยรวมครัวเรือนของนักเรียนครึ่งหนึ่งไม่มีปัญหาภาระพึ่งพิง ร้อยละ 48.05 ส่วนที่มีภาระพึ่งพิง นั้นในหนึ่งครัวเรือนอาจมีภาระพึ่งพิงหลายรูปแบบ โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ร้อยละ 27.95 ผู้ว่างงานอายุ 15-65 ปี ร้อยละ 21.53 พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ร้อยละ 14.55 คนพิการ ร้อยละ 7.01 ซึ่งมักปรากฏข่าวเด็กๆ ต้องออกจากระบบการศึกษาทั้งชั่วคราว และถาวร เพื่อหาเลี้ยงสมาชิกที่มีภาระพึ่งพิง เช่น พ่อแม่ที่ป่วยติดเตียง หรือ ปูย่าตายายที่แก่เฒ่า ดร.ไกรยส กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กสศ.และ สปสช. ถือเป็นประสานพลังระหว่างหน่วยงานที่มีภารกิจสร้างเสริมหลักประกันสุขภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยให้เด็ก เยาวชนและครอบครัวที่ยากจนด้อยโอกาสกลุ่มนี้ ได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ช่วยขจัดอุปสรรคต่อการเรียนรู้การพัฒนาศักยภาพ และการดำเนินชีวิตในระยะยาว ผ่านการชี้เป้า ของกสศ. โดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ ระบบ iSEE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ครอบคลุมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนพิเศษ 1.2 ล้านคนรวมทั้งครอบครัวด้วย นับเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายฝ่ายจะเห็นได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านปัญหาการว่างงานและรายได้ที่ลดลงของครัวเรือนในระบบการศึกษาทั้งในระยะสั้น เช่น สถานการณ์การหลุดจากการศึกษาของนักเรียนกลุ่มรอยต่อสูงถึง 43,060 คน ในปีการศึกษา 2564 รวมทั้งผลกระทบในระยะยาวผ่านปัญหาความถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) หรือ ภาวะลองโควิด (Long Covid) ที่จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาเด็กเยาวชนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปอีกระยะหนึ่ง หากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมช่วยสนับสนุนหลักประกันสุขภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กเยาวชนและครอบครัวในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน เพราะ ตามกฎบัตรอ๊อตตาวาเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ขององค์การอนามัยโลก ชี้ว่าการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนิษฐ์ ศรีเคลือบ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานวิจัยการคัดกรองปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกสศ. สำรวจนักเรียนจำนวน 4,674 คน ที่ศึกษาในระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จำนวน 11 โรงเรียน โดยการคัดกรองครั้งนี้ดำเนินการโดยครูประจำชั้นของนักเรียน สามารถจำแนกปัญหาออกเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ 1) การมองเห็น 2) การได้ยิน 3) ช่องปาก 4) ผิวหนัง 5) ทางเดินอาหาร 6) ทุพโภชนาการ 7) การเคลื่อนไหว และ 8) สุขอนามัย เมื่อวิเคราะห์ในภาพรวมของปัญหา พบนักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ คิดเป็นร้อยละ 32.28 ของนักเรียนทั้งหมด โดยนักเรียนหนึ่งคนอาจจะพบปัญหาด้านสุขภาพตั้งแต่ 1 ปัญหาขึ้นไป ปัญหาที่พบในนักเรียนเป็นจำนวนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาในด้านช่องปาก (ร้อยละ 12.60) รองลงมา คือ ปัญหาด้านทุพโภชนาการ (ร้อยละ 10.36) และปัญหาสุขอนามัย (ร้อยละ 7.16) สำหรับปัญหาด้านช่องปากที่พบเป็นอันดับหนึ่ง นักเรียนจะมีอาการปวดฟันบ่อย/ฟันผุ มากที่สุด (ร้อยละ 10.16) และมีแผลในปาก/ร้อนใน/เจ็บลิ้นบ่อย (ร้อยละ 3.70) ในส่วนของปัญหาด้านทุพโภชนาการจะพบนักเรียนที่มีน้ำหนัก/ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ (ร้อยละ 8.94) และตัวซีด/ตัวเหลือง ตาเหลือง (ร้อยละ 1.39) และผิวหยาบ/ผมร่วง/ผมซีดกว่าปกติในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 1.48) สำหรับปัญหาด้านผิวหนัง นักเรียนจะมีเหาในจำนวนมากที่สุด (ร้อยละ 7.02) นอกจากนั้นยังพบนักเรียนที่มีอาการคัน/มีตุ่ม ผื่น ตกสะเก็ดตามผิวหนัง/ซอกนิ้ว/ศีรษะ (ร้อยละ 3.06) ละ 10.36)