มท.1 ประชุมร่วมผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ หารือการสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนผู้ขับขี่ ย้ำทำงานแก้ปัญหาความเดือดร้อนในระดับพื้นที่
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี พลตำรวจตรี ธารา ปุณศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายชยาวุธ จันทร นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษาระดับกระทรวง อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ร่วมประชุม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระมหากรุณาอย่างสูงที่พระราชทานแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย และประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เชิญมามอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการสนองพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมภูมิปัญหา วิถีชีวิตของประชาชนกลุ่มทอผ้าที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของการประกอบอาชีพทอผ้าคงอยู่คู่กับประเทศไทย ซึ่งผ้าไทยเป็นผ้าที่สวมใส่สบาย สามารถใส่ได้ในโอกาสต่างๆ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้น้อมนำพระมหากรุณาในครั้งนี้ ไปขับเคลื่อนขยายผลให้กับประชาชนผู้ประกอบการทอผ้าในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน อันจะส่งผลต่อครอบครัว และเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน
จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ 1) มาตรการการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากกรณีรถจักรยานยนต์ชนคนเดินข้ามถนนบริเวณทางข้าม ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้ จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นจริงจัง แต่ก็ยังคงพบการกระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายในการใช้รถใช้ถนนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่คับขัน ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ต้องใช้กลไกในพื้นที่ ทำให้คนใช้รถใช้ถนนมีจิตวิญญาณหรือวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนน รณรงค์ให้ประชาชนมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก เยาวชนในสถานศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกและนำไปพูดคุยทำความเข้าใจกับคุณพ่อ คุณแม่ สมาชิกในครอบครับที่ขับรถ 2) การดำเนินการตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนในเรื่องค่าครองชีพ ผ่านการสอดส่องดูแล ติดตาม และสำรวจราคาสินค้าและโภคภัณฑ์ในพื้นที่ซึ่งสะท้อนถึงค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามราคาสินค้าและโภคภัณฑ์ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพบการขึ้นราคาสินค้าเกินกำหนด หรือพบการกักตุนโภคภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย 3) การจัดที่ดินให้ชุมชนตามนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และแนวทางที่กำหนดเพื่อประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
4) การจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยต้องเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดไฟป่า หมอกควันในพื้นที่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทิศทางลม การเกิดจุดความร้อน (Hotspot) พร้อมทั้งทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุ ปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยง แบ่งพื้นที่รับผิดชอบถึงระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน บูรณาการซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งยานพาหนะ การก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนเข้าใจและมีส่วนร่วมตามมาตรการภาครัฐ ลด ละ เลิก การเผาป่า การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ภาคก่อสร้างปฏิบัติตามกฎหมาย ภาคอุตสาหกรรมตรวจสอบและติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศ และคนใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ช่วยกันตรวจสอบสภาพรถ เพื่อไม่ให้ปล่อยควันเสียที่เผาไหม้ไม่หมด 5) การเตรียมการรับมือภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำ โดยเฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณฝนที่ตก และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการของจังหวัด กำหนดแนวทางการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตลอดถึงแนวทางการระบาย และกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ตามแหล่งน้ำขนาดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่
6) การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ผ่านกลไกนายอำเภอในฐานะประธานกรรมการ ศจพ.อำเภอ หากพบว่าครัวเรือนประชาชนประสบปัญหาเรื่องใด ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ดำเนินการแก้ไขทันที เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า และประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาตรงจุด 7) การแก้ปัญหาสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงาม อันเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของพื้นที่อำเภอ จังหวัด และเป็นการป้องกันอันตรายของประชาชนจากสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าที่รกรุงรังอีกด้วย 8) การแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากสภาพพื้นผิวถนนขรุขระและชำรุดเสียหาย โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาสภาพถนนที่ชำรุดเสียหาย เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยและบรรเทาผลกระทบจากความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน
“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน โดยขับเคลื่อนการทำงานและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านต่าง ๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อันจะทำให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และความผาสุกกับประเทศชาติ นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่าน ได้ช่วยกันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย อุดหนุนประชาชนผู้ประกอบการทอผ้าซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเงินทุกบาททุกสตางค์ที่คนไทยด้วยกันซื้อผ้าไทย อุดหนุนผ้าไทย จะกลับคืนสู่ประชาชนคนไทยด้วยกัน เศรษฐกิจฐานรากจะเข้มแข็ง และเป็นการต่อลมหายใจ สร้างคุณค่าผ้าไทยให้ได้รับการสืบสาน รักษา ต่อยอด อย่างยั่งยืนตลอดไป” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวในตอนท้าย