องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอ ‘ร่าง พ.ร.บ. ปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ….’ หรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม พร้อมด้วยตัวแทนภาคประชาสังคมด้านการปกป้องสัตว์ อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไป ร่วมยื่น 16,495 รายชื่อ สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว แก่ตัวแทนประธานรัฐสภา เรียกร้องให้เร่งเข้าสู่ขั้นตอนการตราเป็นกฎหมาย เพื่อเดินหน้าปฏิรูปสวัสดิภาพช้างอย่างยั่งยืน นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “สวัสดิภาพช้างไทยประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ปัญหาด้านกฎหมายที่ถูกแบ่งเป็นช้างเลี้ยงกับช้างป่า ปัจจุบันช้างเลี้ยงไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าช้างป่า ยังคงถูกฝึกเพื่อนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบที่ขัดกับพฤติกรรมธรรมชาติของช้าง เช่น โชว์ช้าง ขี่ช้าง ซึ่งกระบวนการในการฝึกก่อให้เกิดการทำร้ายและทารุณช้างเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ช้างส่วนใหญ่ยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบสัตว์ป่า” “ยิ่งไปกว่านั้น การผสมพันธุ์ช้างยังไม่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ช้างในป่าแต่อย่างใด มีแต่จะยิ่งทำให้จำนวนช้างเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับกระแสการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวหันมาใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์กันมากขึ้น และช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีช้างมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถดูแลช้างในยามวิกฤตได้” นางสาวโรจนา กล่าวเสริม ด้าน นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ระบุว่า “ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับภาคประชาสังคม มีเนื้อหาที่มุ่งเน้นการพัฒนาสวัสดิภาพช้างไทย และยุติความรุนแรงต่อช้างในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการห้ามฝึกลูกช้างด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณ หรือการนำช้างมาใช้งานที่ผิดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง การยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ ยุติการส่งออกช้าง ยกเว้นเพื่อการอนุรักษ์และการวิจัย การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสวัสดิภาพช้างในสถานที่ท่องเที่ยวด้วยหลักอิสรภาพ 5 ประการ รวมไปถึงการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติและกองทุนที่จะมาพัฒนาสวัสดิภาพช้างโดยตรง” “ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการยกร่างและหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงช้าง องค์กรภาคประชาสังคมด้านการปกป้องสัตว์ เจ้าของปางช้าง นักกฎหมาย และตัวแทนภาครัฐ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมเห็นตรงกันว่าช้างไทยสมควรได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพราะหากปัญหาด้านสวัสดิภาพช้างไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบ และเกิดความเสียหายในระยะยาวได้” นายปัญจเดช กล่าวเสริม ข้อมูลจากรายงาน ‘Taken for a Ride’ ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เมื่อเดือนมกราคม 2563 พบว่า ร้อยละ 73 ของช้างที่ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วเอเชียนั้นอยู่ในประเทศไทย โดยประเทศไทยมีประชากรช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากกว่า 2,800 ตัว เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 70 จากเมื่อ 10 ปีก่อน และพบด้วยว่าประมาณ 3 ใน 4 มีสภาพความเป็นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง ในกิจกรรมการยื่นรายชื่อต่อรัฐสภาครั้งนี้ มีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมด้านการปกป้องสัตว์ อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไปที่สนับสนุน ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม มากกว่า 30 คนเข้าร่วมด้วย โดยมีการรวมตัวกันหน้าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนยกระดับการปกป้องคุ้มครองช้างไทยจากกิจกรรมที่มีความโหดร้ายทารุณ ทั้งนี้ หลังจากรัฐสภาได้รับรายชื่อทั้งหมดแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนที่รัฐสภาและกรมการปกครองจะร่วมตรวจสอบรายชื่อประชาชน เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป อาทิ รัฐสภาจะแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย การร่วมอภิปราย การเปิดโหวตในสภา ฯลฯ การเรียกร้องให้เกิดการตรากฎหมาย พ.ร.บ.ช้างไทย อยู่ภายใต้โครงการสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง (Wildlife. Not Entertainers.) ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เป็นการรณรงค์ระดับโลกให้ยุติการนำสัตว์ป่ามาเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะในกรณีการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับสัตว์ป่าเหล่านั้น ซึ่งครอบคลุมถึง ช้าง เสือ โลมา หมี และอื่นๆ โดยเน้นย้ำถึงจุดยืนที่สำคัญว่า สัตว์ป่าไม่ใช่สินค้าหรือเครื่องมือหาผลประโยชน์ของมนุษย์ สัตว์ป่าสมควรจะได้อยู่ในป่า และมีโอกาสใช้ชีวิตตามธรรมชาติอย่างอิสระ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย www.worldanimalprotection.or.th/Elephant-Bill