มจพ. รับรางวัล “อาจารย์ และ “มหาวิทยาลัย” ต้นแบบด้านการสอน พ.ศ. 2565” จาก ควอท และ สป.อว.

        เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.อรรถกร เก่งพล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) รับใบประกาศเกียรติคุณรางวัลอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน ประจำปี พ.ศ. 2565 และศาสตราจารย์ ดร.เสาวณิต สุขภารังษี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจพ. รับโล่ประกาศเกียรติคุณ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ นายกสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นผู้มอบรางวัล ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร
       
        ศาสตราจารย์ ดร.อรรถกร กล่าวว่า การเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสสอน เพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในการเรียนรู้ของนักศึกษา การศึกษาในปัจจุบันมีความหลากหลายทั้งเนื้อหาและผู้เรียน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เท่าทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงในสังคม
       
        ศาสตราจารย์ ดร.อรรถกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องขอขอบคุณรางวัลอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน พ.ศ. 2565 จากสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เห็นถึงความตั้งใจในการสอนและจะพัฒนาการสอนในอนาคตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

        ศาสตราจารย์ ดร.เสาวณิต ในนามตัวแทนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า ขอขอบคุณสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (คอวท) ที่ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับมหาวิทยาลัยที่มีนโยบายมุ่งส่งเสริมอาจารย์ที่ดี มีจรรยาบรรณวิชาชีพ มีความสามารถในการสร้างและรักษาคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจนเกิดเป็นรูปธรรม เป็นอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน ซึ่งสอดคล้องกับกลไกในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยแบบเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome based education) เพื่อสร้างบัณฑิตที่คิดเป็น ทำเป็น รวมถึงปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่กล่าวไว้ว่า "วิชาการดีเด่นจากการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (Academic Excellence with Hands-on Experience)" ดังนั้น จะเห็นว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้ตระหนักถึงการจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรที่ตอบสนองผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน และความต้องการของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ