การรถไฟฯ ชี้แจงกรณีพิพาทการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี โดยยืนยันได้ยึดหลักความถูกต้องตามกฎหมาย ควบคู่กับหลักมนุษยธรรม

การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงกรณีพิพาทการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร บริเวณ กม.ที่ 1+200 ถึง กม.1+326 จำนวนพื้นที่ 3,265 ตารางเมตร ซึ่งมีนายโสภณ เสียงล้ำเลิศ เป็นผู้ได้สิทธิการเช่าในพื้นที่ กับกลุ่มประชาชนผู้บุกรุก โดยขอชี้แจงรายละเอียดดังนี้

ที่ผ่านมาในการดำเนินแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการแก้ปัญหาผู้บุกรุกบนพื้นที่ของการรถไฟฯ การรถไฟฯได้ดำเนินการโดยยึดหลักความถูกต้อง ตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย ควบคู่กับคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด ซึ่งในกรณีที่ดินบริเวณสถานีรถไฟธนบุรี แขวงศิริราช ของการรถไฟฯ นั้น ได้มีการเปิดให้เสนอราคาเช่าเพื่อเข้ามาพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟฯ ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีนายโสภณ เสียงล้ำเลิศ เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด จึงได้สิทธิในการเช่า เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา


อย่างไรก็ตาม แม้นายโสภณจะได้สิทธิการเช่า และมีการชำระค่าเช่ามาตลอด แต่กลับพบว่า ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ เพราะมีการบุกรุกจากบุคคลภายนอกเต็มพื้นที่ และจัดตั้งเป็นชุมชนใหม่ตั้งอยู่หน้าทางเข้า-ออกวัดใหม่ยายมอญ อย่างไรก็ตาม ผู้เช่าและการรถไฟฯ ได้คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม โดยได้ทำการเจรจาและเสนอช่วยเหลือค่ารื้อย้ายกับผู้บุกรุกให้ออกจากที่ดินของการรถไฟฯ แต่กลับไม่เป็นผล ส่งผลให้ผู้ได้สิทธิเช่า จึงต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมาย โดยมีการยื่นฟ้องผู้บุกรุก 26 ราย เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งตลิ่งชัน ในฐานความผิดขับไล่ เรียกค่าเสียหาย เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.197/2561 เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2561 และต่อมาศาลมีคำสั่งให้ การรถไฟฯ เข้าเป็นโจทก์ร่วม เพื่อรับรองสิทธิการเช่าจากการถูกรอนสิทธิจากผู้บุกรุกดังกล่าว

จนกระทั่งวันที่ 9 ก.ย.62 ศาลแพ่งตลิ่งชัน มีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จำเลย ที่ 9 ถึงที่ 26 ออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยแต่ละรายชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 12,625.66 บาท ไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทจนแล้วเสร็จ ในส่วนจำเลยที่ 8 ระหว่างพิจารณาได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จึงจะได้ถอนฟ้องไป
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 6 ม.ค.63 จำเลยทั้ง 26 คน ได้มีการยื่นอุทธรณ์ พร้อมกับยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวอยู่ และไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1468/2563 และเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2074/2564 โดยมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ขับไล่จำเลยทั้ง 26 คน ซึ่งจำเลยทั้ง 26 คนมาฟังคำพิพากษาครบถ้วน แต่ปรากฏว่าก็ยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ อีก

ต่อมาผู้บุกรุกทั้ง 26 คน ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกา ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีและ
งดการบังคับคดี แต่ศาลแพ่งตลิ่งชัน ได้มีคำสั่งให้รวมส่งคำร้องดังกล่าวเสนอศาลฎีกาเพื่อมีคำสั่งแก่จำเลยตามคำร้องดังกล่าว แต่ปัจจุบันศาลฎีกายังคงไม่มีคำสั่ง โจทก์หรือผู้เช่าจึงมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีได้ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 145 อีกทั้งเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2564 ศาลแพ่งตลิ่งชันได้มีหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้โจทก์ดำเนินการบังคับตามสิทธิเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยให้ขับไล่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้ง 26 คน และให้จำเลยแต่ละรายชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 12,625.66 บาท

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ม.ค.65 โจทก์หรือผู้เช่า จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าปิดประกาศขับไล่รื้อถอนในที่ดินพิพาทกับสิ่งปลูกสร้างของจำเลยแต่ละราย และกำหนดนัดทำการรื้อถอนในวันที่ 4 เม.ย.2565 ไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่จำเลยทั้งหมดกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการรื้อถอนแต่อย่างใด และในช่วงบ่ายของวันที่ 4 เม.ย. 2565 จำเลยทั้งหมดต่างตกลงรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างด้วยตนเองแทนการบังคับคดี โดยขอระยะเวลารื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ครบกำหนดวันที่ 4 พ.ค.65 แต่มีเงื่อนไขหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองโดยงดการบังคับคดีชั่วคราวก็ขอชะลอการรื้อถอน เพื่อรอฟังผลว่าศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตรับฎีกาจำเลยหรือไม่ โจทก์และจำเลยทั้งหมดจึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี

ภายหลังจากโจทก์กับจำเลยได้มีข้อตกลงร่วมกันแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2565 ทางศาลแพ่งตลิ่งชัน
ได้มีคำสั่งงดการบังคับคดีชั่วคราว โดยศาลอาศัยเหตุว่าหากมีการบังคับคดีต่อไป อาจจะเกิดข้อพิพาทกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ขัดขวาง จนเป็นเหตุให้เกิดคดีอื่นๆ ตามมา จึงสั่งให้งดการบังคับคดี เพื่อรอฟังคำสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีจากศาลฎีกาก่อน ซึ่งการรถไฟฯ และโจทก์หรือผู้มีสิทธิเช่า ก็พร้อมดำเนินการตามคำสั่งศาล เพื่อรอจนกว่าจะมีการพิจารณาจากศาลฎีกาต่อไป