อว.หนุน SOFT POWER ขับเคลื่อนมรดกวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
อว.-สกสว.หนุนขับเคลื่อนมรดกวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็น Soft Power เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนบนฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านวิทยากรแนะสร้างพลังศรัทธาและความเข้าใจแก่เยาวชนรุ่นใหม่ให้ช่วยพัฒนาต่อยอดควบคู่กับการอนุรักษ์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนา TSRI Forum: “ววน. ขับเคลื่อน SOFT POWER สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของ อว. กับการขับเคลื่อน Soft Power ด้วย ววน.” สรุปสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า บทบาทของประเทศไทยหากพูดถึง soft Power จะพบในหลายมิติโดยเฉพาะในการต่างประเทศที่มีอิทธิพลในเรื่องต่าง ๆ โดยใช้วิธีโน้มน้าวชักจูงไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หัวใจคือเรื่องวัฒนธรรมและกำลังทางเศรษฐกิจ “บทบาทของภาควิชาการเราจะต้องมองสิ่งที่จะเกิดขึ้น 3 ด้าน คือ 1) ทำอย่างไรจะเสริมจุดแข็งที่มีอยู่ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ยากและท้าทาย 2) ทำอย่างไรให้สิ่งที่มีอยู่เกิดความยั่งยืนต่อไปเรื่อย ๆ 3) ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยคิดว่าทำอย่างไรจะทำให้ส่วนอื่นแข็งแกร่งขึ้นด้วย เราต้องเป็นกลไกขับเคลื่อนให้คนไทยรู้สึกว่าประเทศไทยมีอนาคต มีความหวังและความรู้สึกที่ดี ในฐานะกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย ววน. เราไม่สามารถให้งบประมาณไปสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ช่วยปลดล็อกให้ขับเคลื่อนไปได้ ให้แน่ใจว่าของที่ดีและมีอยู่แล้วไปได้มากขึ้น อว.ยินดีที่จะใช้องคาพยพที่มีทั้งหมดทำงานร่วมกับทุกคนต่อไป”
ด้าน รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว.ตระหนักถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ จึงหวังว่าเวทีนี้จะได้ข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอแนะให้หน่วยงานใน อว. และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ร่วมกันกำหนดโจทย์และเป้าหมายที่จะสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสริมพลังการขับเคลื่อนมรดกวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่การเพิ่มมูลค่า สร้างการยอมรับในความไทย และเป็น Soft Power ที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
สำหรับการเสวนา “การส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็น Soft Power สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภาระบุว่า Soft Power เป็นโจทย์ยากแต่ทำง่าย เรามีของดีมานานนับพันปีแต่ต้องต่อยอดและทำให้ยั่งยืน โดยสร้าง “พลังศรัทธา” ให้คนเชื่อมั่นและเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ รวมทั้ง “อุตสาหกรรมสาระ” (Content Industry) ให้เกิดมูลค่าเพิ่มและผู้ซื้อยอมควักเงินจ่ายแพงขึ้น แต่ต้องจัดระบบให้ดีอย่าให้เป็นราชการเพราะเรามีอีโก้สูง คนไทยมีลักษณะพิเศษ คนสร้างและคนเสพต้องจูนเข้าด้วยกัน ถ้ามีศรัทธาก็จะตามไปให้ถึง รู้จักออกแบบใหม่ ปรับเปลี่ยนสินค้า และไม่จำเป็นต้องทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน ถ้ามองโมเดลเชิงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ ต้องทำตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำที่มีคุณภาพไปจนถึงสินค้าปลายทาง
“Soft Power เป็นเอกภาพของความหลากหลาย อย่าไปมัดห่อรวมกัน เรามีวัตถุดิบเยอะมากและมีโอกาสที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มหรือกระบวนทัศน์อีกมาก สำคัญที่สุดคือขอให้เชื่อและศรัทธาเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่ามีฝีมือ ปรารถนาดีและกล้าเสี่ยง รู้เรื่องเทคโนโลยีสูง สามารถสร้างรายได้และมีเครือข่ายมากมาย แม้สำเร็จเพียงร้อยละ 1 ก็ถือว่ามีมูลค่าแล้ว บางครั้งธุรกิจไม่ต้องการนโยบายแต่อยากได้โอกาส ชื่อเสียง และการออกสื่อ เราต้องสร้างความเข้าใจในคนปัจจุบันและคนในอนาคตให้รู้จักทรัพย์สินทางปัญญาของเราว่ามีดี มีคุณค่าและมูลค่า สามารถต่อยอดได้ทางสุนทรียะ และใช้เทคโนโลยีสู่อนาคต หลักสูตรที่มีอยู่ด้านศิลปะมีน้ำหนักเพียงผิวเผิน ยังขาดความเข้าใจและชื่นชมที่จะนำมาใช้ในวิถีชีวิตปัจจุบัน ต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่สามารถใช้ Soft Power อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อผลทางด้านคุณค่าและมูลค่า อนุรักษ์และพัฒนา ให้พื้นที่และโอกาสโดยไม่มีเงื่อนไขมากนัก ทดลองทำ และถอดองค์ความรู้”
ขณะที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้คือ ธรรมชาติ มรดกวัฒนธรรม และกิจกรรม นอกจาก 5F ซึ่งประกอบด้วย Food (อาหาร), Film (อุตสาหกรรมบันเทิง), Fashion Fighting (มวยไทย) และ Festival (เทศกาลประเพณี) แล้วยังต้องมี Friendship (มิตรภาพ) ความเป็นเจ้าภาพที่ดีของคนไทยด้วย อีกทั้งต้องมี 5M ได้แก่ Music (ดนตรี), Museum (พิพิธภัณฑ์), Master event (กิจกรรมประเพณีที่ยิ่งใหญ่), Metaverse ที่สามารถต่อยอดได้ และ Merit การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำสมาธิ ดีท็อกซ์ เพราะเรามีความหลากหลาย เปลี่ยนธรรมชาติให้เป็นประสบการณ์ไม่ใช่แค่ดูแต่ต้องรักษาให้คงอยู่ รวมถึงต้องมี Thainess ไม่ใช่แค่มาเที่ยวแต่ให้ซึมซับวัฒนธรรมและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จึงจะนำไปสู่ Soft Power และการสร้างแบรนด์ประเทศไทย “สิ่งที่ต้องทำคือ มีแพลตฟอร์ม X ร่วมมือกันให้เกิดความสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดและต่อเนื่อง นำความรู้จาก ‘บ ว ร’ (บ้าน วัด โรงเรียน) ทำให้เกิดพลังศรัทธาที่คนทั้งโลกพูดถึงทั้งในโลกปัจจุบันและโลกเสมือน ซึ่งตนหวังจะเห็น สกสว.ร่วมขับเคลื่อน และเสนอให้เปลี่ยนมรดกวัฒนธรรมที่ดูเก่าให้เป็น ‘สินทรัพย์วัฒนธรรม’ จะเกิดมูลค่าทันที
ด้านนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เผยว่า เราร่ำรวยวัฒนธรรมและมีวัตถุดิบจำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรให้เปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีมูลค่า โดยปัจจัยสำคัญคือ Content Industry ที่ต้องผสมผสานวัฒนธรรมเดิมกับวัฒนธรรมสากล ดังเช่นการแปลงภาษาวัฒนธรรมมาเป็นภาษาเต้นของศิลปินเกาหลี และต้องมีนโยบายการต่างประเทศที่ชัดเจนเพื่อจะได้ทราบตำแหน่งและรู้ว่าจะปรับตัวไปแค่ไหน ขณะเดียวกันฝั่งธุรกิจต้องมีโอกาสและช่องทางเพิ่มขึ้น ต้องเป็นสังคมที่ดัดจริตน้อยลง งมงายน้อยลง ทำให้ค่านิยมสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ให้คนไทยเชื่อ รับรู้และยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม รวมทั้งต้องรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายให้เป็นปึกแผ่น ทำ Soft Power ให้มีทิศทางที่ชัดเจนและครบถ้วน มีองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อผลักดันให้เติบโตเร็วยิ่งขึ้น การวิจัยจึงเป็นพื้นฐานสำคัญเพราะงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์อยู่บนพื้นฐานของความรู้ เพื่อสร้าง “Creative ที่มีมูลค่าต่อสังคม” นอกจากนี้ยังต้องต้องหาคนพูดที่เข้าใจวัฒนธรรมและเข้าใจโลกอนาคต สกสว.ต้องให้โอกาสคนทั้งหลายได้ศึกษาความหลากหลาย ไม่ใช่เพียงส่วนราชการเท่านั้น แต่ต้องถ่ายทอดลงสู่คนตัวเล็ก เด็ก และเอกชนได้ทดลองทำวิจัย สุดท้ายไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอุดมคติหรือแกนทฤษฎีแต่ตนก็อยากเห็นข้อสรุปของงานวิจัย
เช่นเดียวกับนางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานต้นน้ำที่เสาะแสวงหาเพชรมาขัดเกลา แต่โจทย์ใหญ่ที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนา Soft Power คือเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของภูมิปัญญามรดกวัฒนธรรมไทย มองว่าเชยและไม่อยากหยิบยกขึ้นมาพัฒนา ทำอย่างไรจะให้เด็กเห็นคุณค่า พัฒนาและต่อยอดให้เกิดการเพิ่มมูลค่า ควบคู่กับการอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป