มจพ. หนุนนวัตกรรมอวกาศให้นักเรียน รร.เตรียมวิศวฯ ไทย-เยอรมัน สร้างดาวเทียมการศึกษาเตรียมส่งขึ้นอวกาศต้นปี 2566
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และทีมนักวิจัยโครงการดาวเทียมแนคแซท ร่วมกันแถลงข่าวสร้างดาวเทียมของนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (KNACKSAT-2 TGPS) ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ.
มจพ. เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการวิจัยหลากหลายสาขาวิชา หนึ่งในนั้นคือด้านเทคโนโลยีอวกาศ เป็นที่ประจักษ์จากการออกแบบส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา “KNACKSAT” ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 เวลา 18:34 UTC จากฐานทัพอากาศ Vandenberg ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา เป็นหัวหน้าโครงการ และ ดร.พงศธร สายสุจริต เป็นผู้จัดการโครงการ ทีมวิจัยประกอบด้วย บุคลากรและนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน เป็นดาวเทียมดวงแรกที่ถูกสร้างและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย 100% เป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย แสดงถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยในการออกแบบและสร้างดาวเทียมด้วยตนเอง
ในปี 2565 มจพ. ได้สนับสนุนโครงการโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน กับภารกิจส่งดาวเทียมเพื่อการศึกษาสู่อวกาศ โดยนักศึกษาระดับต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ซึ่งถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนสู่ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี และผู้บริหาร มจพ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัยในด้านเทคโนโลยีอวกาศ เป็นอีก 1 สาขาที่เป็นจุดเด่นของ มจพ. เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในปัจจุบันและในอนาคต มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต รวมทั้งต่อยอดสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรม เชิงพาณิชย์ช่วยสร้างความมั่นคงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในอนาคต ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศของ มจพ. ไม่จำกัดอยู่แค่การเรียนการสอนและการวิจัยในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่นำมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสริมหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน (โรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน เดิม) เป็นสถาบันการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี สังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มีชื่อเสียง โดดเด่นด้านการฝึกหัดนักเรียนให้มีทักษะ ความชำนาญในงานปฏิบัติ (วิศวกรมือเปื้อน) มายาวนานกว่า 60 ปี การจัดการเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับโลกปัจจุบัน การเรียนการสอนของโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ปัจจุบันส่งเสริมการจัดการศึกษาในรูปแบบ STEM มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อประยุกต์ให้เป็นรูปธรรม นำมาใช้แก้ปัญหา รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ การออกแบบและสร้างดาวเทียมต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ดังนั้น กิจกรรมดังกล่าวเป็นการท้าทายศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีประสบการณ์จริงในการบูรณาการองค์ความรู้ เชื่อมโยงของทั้ง 4 สาขาวิชา สอดคล้องกับปณิธานของโรงเรียนที่ยึดถือมาโดยตลอด จัดการเรียนรู้ด้วยการสร้างประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติ นักเรียนของโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ไม่ได้มีแต่ความชำนาญในทักษะทางวิศวกรรมทั่วไปเท่านั้น แต่ได้ประสบการณ์ตรงด้านเทคโนโลยีอวกาศ มีความสำคัญและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นักเรียนต้องทำงานเป็นทีม พัฒนาทักษะอื่นๆ ที่สำคัญอีกหลากหลายในศตวรรษที่ 21 ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานในอนาคต
การสร้างดาวเทียมเพื่อการศึกษาครั้งนี้ มีนักเรียนโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน จำนวน 22 คน ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างดาวเทียม (KNACKSAT-2 TGPS) โดยมี ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มจพ. และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย (INSTED) และทีมงานโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน เป็นผู้ฝึกอบรมและให้คำปรึกษา เพื่อให้นักเรียนสามารถออกแบบพันธกิจในอวกาศ พัฒนาเพย์โหลด ระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2565 โดยเพย์โหลดที่พัฒนาขึ้นนี้จะถูกนำไปติดในดาวเทียม และนำไปทดสอบในอวกาศภายในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ.2566 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มจพ. และ Kyushu Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรทางวิชาการที่สำคัญของ มจพ. ได้ร่วมมือและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง
การที่ มจพ. ขยายการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศจากระดับอุดมศึกษาสู่ระดับเตรียมอุดมศึกษา เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุดประกายความสนใจและสร้าง แรงบันดาลใจในการศึกษาต่อหรือก้าวเข้าสู่อาชีพด้านเทคโนโลยีอวกาศ เตรียมนักเรียนให้มีความพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองในสาขานี้ต่อไป เพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โครงการดังกล่าวจึงเป็นการวางรากฐานการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ ผ่านการจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนที่เป็นกำลังหลักของประเทศไทยในอนาคตต่อไป อีกทั้งเป็นการสร้างความต่อเนื่องในการจัดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมศึกษาสู่ระดับอุดมศึกษา โดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ได้จัดการศึกษาและทำการวิจัยในสาขาดังกล่าวมาโดยตลอด