ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมเติมช่องว่างการจัดการสิ่งแวดล้อมไทย เนื่องในวันทะเลโลก
สกสว. จัดประชุม เสวนาออนไลน์ “เติมช่องว่างในการขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมของไทยด้วย ววน.” เนื่องในวันทะเลโลก หรือ วันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) เพื่อออกแบบแนวทางและทิศทางการทำงานร่วมกัน รับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิอากาศ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนาออนไลน์ TSRI Talk “เติมช่องว่างในการขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมของไทยด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)” เพื่อติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปัจจัยเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ การนำเข้า ส่งออก การกระจายรายได้และความเลื่อมล้ำ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และที่สำคัญคือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนประชากรและการย้ายถิ่น ตลอดจนปัจจัยด้านการสาธารณสุข สู่การกำหนดทิศทางและการออกแบบการทำงานร่วมกันของประชาคมด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว., ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม กว่า 100 ท่าน ร่วมแลกเปลี่ยนใน 4 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หัวข้อ 1. ววน. กับประเด็น Blue Economy โดย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ 2. ววน. กับประเด็น Pollution Prevention & Circular Economy โดย รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ 3. ววน. กับประเด็น Bridging Net Zero Emission Transition โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ และ 4. SAT สิ่งแวดล้อม กับการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมไทย โดย รศ.ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ ประธานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านสิ่งแวดล้อม (SAT : Strategic Agenda Team) หรือ SAT สิ่งแวดล้อม
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณเพื่อการจัดสรรทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ในทุกมิติ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาสถานการณ์ภาพรวมด้านการวิจัยและนวัตกรรม การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนงานด้านวิชาการ งานธุรการ และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับการขับเคลื่อน ววน. ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) กับเป้าหมายที่ 13 ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น เป้าหมายที่ 14 : อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ เป้าหมายที่ 15 : ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
เช่นเดียวกับ ยุทธศาสตร์ และ แผน ววน. กับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม ให้มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมและน้ำแล้งลดลง ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ในปี 2573 เทียบกับกรณีปกติ และ มีจำนวนปริมาณ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ลดลง และ เป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนการใช้และการผลิตพลังงานสะอาด รองรับอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ด้าน ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาคณะทำงานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดี ที่การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ตรงกับวันที่กลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) กำหนดให้ 8 มินายน ของทุกปี เป็นวันทะเลโลก หรือ วันมหาสมุทรโลก (World Ocean Day) เพื่อให้ประชาชนรู้ถึงความสำคัญของทะเลและมหาสมุทร อนุรักษ์ทะเลและมหาสมุทรให้สมบูรณ์และสวยงาม ซึ่งตรงกับหัวข้อที่จะนำเสนอ คือ ววน. กับประเด็นเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเรื่อง เศรษฐกิจสีน้ำเงิน จะมีการกล่าวถึงระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังมีการตีความหมายที่ผิดอยู่ ขณะเดียวกันสังคม ยังมีความเข้าใจถึงความสำคัญของการดำเนินงาน หรือ การสร้างองค์ความรู้ในประเด็นนี้ไม่มากนัก ทั้งที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่คนไทยทุกคนพึงได้รับจากทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสามารถประเมินออกมาทั้งในรูปตัวเงิน และ ไม่ใช่ตัวเงิน รวมถึงการจัดทำกรอบแนวคิดให้สามารถนํามาประยุกต์ใช้ในลักษณะการของการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ในระดับต่าง ๆ ทางทะเล ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อหลายมิติ โดยเน้นการสนับสนุนให้การเติบโตไปด้วยกันของทั้งกิจกรรมทางทะเลและต้นทุนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โดยการใช้ ววน. มาช่วยเติมช่องว่าง เช่น ต้นทุนทางทะเล ต้นทุนทางสังคม และ ความปลอดภัยทางทะเล รวมถึงการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทางทะเลและการจัดการทางทะเลทั้งในระดับประเทศ ระดับพื้นที่ และระดับโลก ตลอดจนการจัดทำฐานข้อมูล และนิเวศน์ด้านการวิจัยที่สนับสนุนการขับเคลื่อนของ ววน.อย่างเป็นระบบ และนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมของไทยอย่างยั่งยืน