วันที่ 23 มิถุนายน 2565 เวลา 18.00 น. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานงานเลี้ยงต้อนรับผู้ประเมินจีโอพาร์คโลก Welcome Reception Party “Khorat The Aspiring UNESCO Global Geopark” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อมแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับผู้ประเมิน โดยองค์การยูเนสโก้ได้มอบหมายให้ผู้ประเมินอุทยานธรณีโคราช Dr.Marie Louise Frey ผู้อาวุโสจากสหพันธ์รัฐเยอรมนีและ Ms.Sarah Gamble ผู้ประเมินจากประเทศแคนาดา เป็นผู้ประเมินอุทยานธรณีในประเทศไทย เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก โดยกำหนดการประเมินอุทยานธรณีโคราชระหว่างวันที่ 22-26 มิถุนายน 2565 นี้ นายสุวัจน์ กล่าวว่า “โคราช จีโอพาร์ค”เป็นเรื่องที่ดีในขณะนี้ มีผู้แทนจากยูเนสโก เดินทางมาที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อที่จะมาทำการประเมิน ว่าจะได้รับการพิจารณาโกลบอล จีโอพาร์ค ยิ่งถ้าเราได้รับพิจารณาให้เป็นจังหวัดนครราชสีมามีความพร้อม องค์กรหลัก คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งมีการจัดตั้งไม้กลายเป็นหิน ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ได้ทำเกี่ยวกับจีโอพาร์ค มาตลอดมีการขุดใต้ดินในชั้นดินต่างๆ ในธรณีวิทยา ในเขต 5 อำเภอเมือง อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.สีคิ้ว อ.เฉลิมพระเกียรติ ก็จะพบซากบรรพชีวินวิทยา และซากดึกดำบรรพ์ พวกฟอสซิล อาทิ ซากไดโนเสาร์ ซากช้างดึกดำบรรพ์ และไม้กลายเป็นหิน ซึ่งมีการร่วมกันอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการผสมผสานระหว่างซากดึกดำบรรพ์กับธรณีวิทยา กับภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมการใช้ชีวิตในชุมชนต่างๆ นายสุวัจน์ กล่าวว่าเราได้มีการจัดตั้ง “โคราช จีโอพาร์ค” ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 และหลังจากนั้นมีการพัฒนาต่อมาในพื้นที่ใน 5 อำเภอ 17 ชุมชนและ 39 แหล่งของจีโอทัวร์ริสซึม เราจะจัดและพัฒนาเป็นอุทยานธรณีโลกเหมือนที่จังหวัดสตูล โดยสถาบันไม้กลายเป็นหิน เป็นผู้ดำเนินการในเรื่อง”โคราช จีโอพาร์ค” ได้ประสานกับจังหวัดและส่วนราชการ จนคณะรัฐมนตรีได้ให้นำเสนอไปสู่ ยูเนสโก เพื่อยกฐานะเป็น “โกลบอล จีโอพาร์ค”หรือที่เรียกว่า “อุทยานธรณีโลก”ได้หรือไม่ ซึ่งมีความพยายามทำตรงนั้นตั้งแต่ 2558 จนกระทั่งวันนี้ เป็นเวลา 7 ปีเต็มๆ ที่มหาวิทยาลัยและชาวโคราชรอคอย “วันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นเพราะมีคณะได้เดินทางมา 2 ท่านมาประเมิน ใช้เวลาประเมิน 3 วัน เมื่อประเมินเสร็จก็จะนำผลการประเมินไปสู่ที่ประชุมของกรรมการสภาอุทธยานธรณีโลก ซึ่งจะจัดเดือน กันยายน ที่ยูเนสโกของโลก เพราะที่ผ่านมาในระดับจังหวัดและมหาวิทยาลัย และชุมชนต่างๆ ได้มีความร่วมมือในการดูแลท้องถิ่น ในการผสมผสานวัฒนธรรม กับธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ให้เข้ากับซากดึกดำบรรพ์ เพราะหลักของยูเนสโก ต้องการที่จะก่อให้เกิดการอนุรักษ์ บรรพชีวิตและธรณีวิทยาให้ยั่งยืน โดยชุมชนต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามาดูแล และต่อไปจะได้พัฒนาและได้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีการท่องเที่ยวในเชิงธรณีวิทยา เที่ยวในเชิงวัฒนธรรม ผสมผสานการนำ Soft Power มาบวกกับธรณีวิทยาและมีการจ้างงาน มีอาชีพ และมีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ นำการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งเรามั่นใจว่าเรามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน” นายสุวัจน์ กล่าวและย้ำว่า โคราชได้มรดกโลกมาแล้ว 2 มงกุฎ คือ 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.ป่าสงวนชีวมณฑล สะแกราช อ.ปักธงชัย และ 3.อุทยานธรณีโลก หรือ โคราชจีโอพาร์ค ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินของยูเนสโก ถ้าโคราชได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลก นั้นหมายความว่า จังหวัดนครราชสีมา ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 3 มงกุฎ ต่อไปโคราชจะเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เพราะวันนี้คนชอบไปเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อมีโควิด นักท่องเที่ยวก็ชอบไปเที่ยวเมืองปลอดภัย เมืองมรดกโลก เมืองที่อากาศดี และมีวัฒนธรรมเยอะๆ จะทำให้ภาคอีสานเป็นภาคแห่งการท่องเที่ยว และจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์ และขณะนี้รัฐบาลได้มีการสร้างรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์มาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่ลงทุนไปเกือบ 3 แสนล้าน ที่จะมาสอดคล้อง กับการได้เป็นอุทยานธรณีโลก จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลเป็นการเพิ่มพูนรายได้ทางเศรษฐกิจ ให้กับจังหวัดนครราชสีมา “ฉะนั้น หลังจากนี้ลุ้นกันให้ดีเลย ถ้ายูเนสโกประกาศ “โคราชเป็นอุทยานธรณีโลก” เราจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับจังหวัดนครราชสีมา ว่าในโลกจะมีเพียง 3 ประเทศ คือ 1.ประเทศอิตาลี 2.ประเทศเกาหลี และ 3. จังหวัดนครราชสีมาในประเทศไทย” นายสุวัจน์ กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวัจน์ พร้อมคณะได้นำผู้ประเมิน กราบสักการะท้าวสุรนารี ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พร้อมรับฟังกิจกรรมเล่าเรื่องเมืองโคราช ชมศูนย์สารสนเทศจีโอพาร์คความร่วมมือของเทศบาลนครนครราชสีมา ชมประตูชุมพล ความเชื่อมโยงระหว่างประตูชุมพลกับทรัพยากรธรณีและจีโอพาร์ค จากนั้น ผู้ประเมินนั่งสามล้อจากประตูชุมพล มายังบริเวณเรือโคราช-เฉลิมวัฒนา หนึ่งในอันลักษณ์สำคัญของโคราช เข้าสู่งานเลี้ยงต้อนรับผู้ประเมินจีโอพาร์ค ชมวิถีชีวิตชาวโคราชและเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในโคราช รับชมวีดิทัศน์”มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์ค” ชมการแสดงต้อนรับ “โคราชมหานครแห่งบรรพชีวิน” ชมการแสดงเพลงโคราช”โคราชจีโอพาร์ค” โดยศิลปินแห่งชาติ”กำปั่น บ้านแท่น” รับประทานอาหาร “โต๊ะโคราช” ตามเอกลักษณ์ของโคราช ทั้งอาหาร,การแสดง,ภาษา สะท้อนวิถีชาวโคราช