ถึงเวลาหยุดปัญหาคุกคามทางเพศในสถาบันการศึกษา

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ งามวงศ์วาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ สนับสนุนการดำเนินงานโดย สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ ( IPPF ) จัดกิจกรรมรณรงค์ในหัวข้อ “อย่ายอม อย่าเริ่ม อย่าทน ถึงเวลาหยุดการคุกคามทางเพศอย่างจริงจังหรือยัง” ภายใต้ โครงการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักและสนับสนุนการยุติการคุกคามทางเพศในสถานศึกษา ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ชญานิศวร์ โคโนะ เลขาธิการสมาคมฯ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ชญานิศวร์ โคโนะ เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า การคุกคามทางเพศในประเทศไทยมักเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม จากรายงานการสำรวจการคุกคามทางเพศ ในประเทศไทยต่อนักเรียนนักศึกษาหญิงในเขตกรุงเทพนั้นสูงถึงร้อยละ 74.3 โดยผู้คุกคามคือเพื่อนชายในชั้นเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการคุกคามด้วยวาจา และร้อยละ 85 ของนักศึกษาหญิงในระดับปริญญาตรีเคยมีประสบการณ์การโดนคุกคามทางเพศอย่างน้อยหนึ่งครั้ง จากสถานการณ์ดังกล่าว สมาคมฯ จึงดำเนินโครงการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนัก และสนับสนุนความสำคัญของการยุติ การคุกคาม หรือล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ยุติการคุกคามทางเพศในสถานศึกษาอย่างจริงจัง ช่วยให้ผู้หญิงในสถานศึกษาได้มีพื้นที่ปลอดภัย

คุณสมเจตน์ ศรีกนก ผู้อำนวยการสมาคมฯ กล่าวว่า เราพยายามผลักดันให้สถานศึกษาทุกระดับต้องมีหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านมืดของการคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะการเรียนรู้เชิงกระบวนการ และมีพื้นที่รับเรื่องร้องเรียน โดยเฉพาะกรณีครูละเมิดต่อนักเรียน กลไกดังกล่าวต้องมาพร้อมกับโรงเรียนที่เป็นมิตรปลอดภัย ปราศจากระบบอำนาจนิยม และต้องมีการลงโทษนักเรียนที่มีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ถูกต้อง เป็นการให้บทเรียนแทนการลงโทษแบบผลักไสไล่ส่งออกไปจากสังคม เราอยากเห็นกลไกการทำงานของสถานศึกษาจึงได้นำร่องที่วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์

ขณะที่ น.ส. วริทยา รัศมี ตัวแทน Activist จากโครงการฯ กล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่าการคุกคามทางเพศเป็นอาชญากรรม และเป็นปัญหาในสถานศึกษาที่ ถูกซุกอยู่ใต้พรมมานาน เพื่อนผู้ชายตีความการคุกคามทางเพศต้องเป็นเรื่องของการข่มขื่นเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วการคุกคามทางเพศมีหลายรูปแบบ ทั้งคำพูดสองแง่สองงาม สายตาที่จองมองสรีระของผู้หญิง หรือการถูกเนื้อต้องตัว ทุกเรื่องล้วนเป็นการทำร้ายจิตใจของเหยื่อแทบทั้งสิ้น สังคมควรตระหนักถึงเรื่องนี้มากกว่านี้ จึงเป็นที่มาของแคมเปญนี้ “อย่ายอม อย่าเริ่ม อย่าทน”

น้องเนเน่ น.ส.สุชาวดี โถน้อย ตัวแทนนักศึกษาจาก วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า การคุกคามทางเพศไม่ว่าจะทางไหน วิธีการอะไร มันก็คือ การกระทำที่ไม่ดีต่อกัน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่น่าเป็นห่วงคือ เยาวชนในทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจว่า แบบไหนคือการคุกคามทางเพศ แบบไหนไม่ใช่ สนิทได้แต่ไม่ล้ำเส้น ซึ่งน่าเป็นห่วงมากๆ ส่วนตัวอย่างให้สถานศึกษาให้ความรู้ในประเด็นนี้ให้มากขึ้น เพราะอย่างน้อยมันก็ยังเป็นเกราะให้เราได้ป้องกันตนเอง หรือการมีช่องทางช่วยเหลือเมื่อเราถูกกระทำ อยากของคุณสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯที่จัดกิจกรรมดีๆแบบนี้


ประสานงานสื่อมวลชน
1.คุณปนัฐพงศ์ นรดี ผู้จัดการงานเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ สวท โทรศัพท์ 081-487-1734
2.คุณเพชรรัตน์ จั่นบรรจง งานเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ สวท โทรศัพท์ 095-943-8150

Facebook : https://www.facebook.com/PPATBANGKOK