สกสว. จัดเสวนา TSRI Seminar Series E: Science for The Future ระดมความคิดเห็นการจัดทำฉากทัศน์อนาคต ยกตัวอย่างโมเดลจากต่างประเทศ เช่น สิงค์โปร เกาหลี สู่การเตรียมความพร้อมและการพัฒนาแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีของไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเสวนา TSRI Seminar Series E: Science for The Future ออนไลน์ ระดมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ เครื่องมือการจัดทำฉากทัศน์อนาคตเพื่อพัฒนาแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย โดย ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ TUXSA MBA (Business Innovation) รวมถึงการเสวนา “มองอนาคตจาก Foresight Tools สู่การเตรียมความพร้อมและนำทางด้านเทคโนโลยี” (Foresight Tools for Future Technology Roadmap Formulation) โดย ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคาดการณ์อนาคต สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แอ็คโคเมท จำกัด (Ztrus) และ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว.ในฐานะหน่วยงานกำหนดแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้กำหนดให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศ เพื่อไปสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และงานวิจัยที่จะช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมและบริการฐานนวัตกรรมที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย รวมถึงการพยายามสนับสนุนและสร้างโอกาสให้เกิดความพร้อมด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมใหม่และบริการใหม่แห่งอนาคตที่ประเทศไทยมีศักยภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การสกัดข้อมูลที่ช่วยจับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต (Global Trends) โดยตระหนักถึงปัจจัยหรือเหตุการณ์ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศด้วยการนำเทคนิคการมองอนาคตมาใช้ประโยชน์ อาทิ การประเมินระดับความรุนแรงของผลกระทบของเหตุการณ์ในมิติต่าง ๆ การคาดการณ์ผลกระทบต่าง ๆ ที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้สามารถกำหนดทิศทางและเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถสร้างศักยภาพในการแข่งขันแห่งอนาคตให้กับประเทศได้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับ ดร.ธันยพร สุนทรธรรม ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับการบรรยายในหัวข้อเครื่องมือการจัดทำฉากทัศน์อนาคตเพื่อพัฒนาแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า การจัดทำฉากทัศน์ (Foresight) เป็นการนำเข้าข้อมูลสำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องมือ หรือ กลไกสำคัญ ที่จะทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะ 15 -20 ปี ข้างหน้ามีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเราเห็นภูมิทัศน์ (landscape) ในการพัฒนา โดยเฉพาะฉากทัศน์ด้านอุตสาหกรรมภายใต้สถานการณ์ (Scenario) การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การจัดทำฉากทัศน์ยังช่วยในเรื่องการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน หรือภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อย่างไรก็ดี จากการศึกษาและติดตามการจัดทำฉากทัศน์ ทั้งในส่วนของประเทศไทย และประเทศในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และกลุ่มประเทศทางยุโรป พบว่า การแชร์ข้อมูลเพื่อพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมต่าง ๆ กับความเป็นจริงถือว่าน้อยมาก ยังมีความแตกต่าง และไม่ได้เปิดเผยให้เกิดการนำข้อมูลจากการทำฉากทัศน์ที่แสดงให้เห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวข้ามความท้าทายไปด้วยกันตามเจตนารมณ์ที่ให้ไว้ ด้าน ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคาดการณ์อนาคต สอวช. เสนอถึงการใช้ประโยชน์จากการจัดทำข้อมูลฉากทัศน์ ว่า การสื่อสารเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงข้อมูล ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างการรับรู้ ตระหนักรู้ และความเข้าแก่สังคม ถึงการพยากรณ์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่การสื่อสารอาจจะต้องนำมาออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประชาชนทั่วไป และ ผู้กำหนดนโยบาย ยกตัวอย่าง สิงค์โปร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้แผนที่ นำทางจากการศึกษาและการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของทุกภาคส่วนที่ส่วนเกี่ยวข้อง มาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Brief ) เสนอแก่รัฐบาล เพื่อกำหนดเป็นนโยบายของประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด หรือให้ความเห็นการพัฒนาแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีของไทยอย่างมีทิศทางในมิติต่าง ๆ ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับการปรับตัวของอุตสาหกรรมปัจจุบันสู่อนาคตได้ต่อไป