“สุวัจน์” ยก 5 แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟื้อ SME การท่องเที่ยว สินค้าแพง และพลังงาน ทางรอดที่ต้องแก้ไขในวิกฤตโลก
“สุวัจน์”เสนอ 5 แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเฉพาะหน้าและหลังพ้นวิกฤติโควิด ต้องช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม กระตุ้นท่องเที่ยว แก้สินค้า-พลังงานแพง ชี้ครม.หลังเลือกตั้งต้องมีเสถียรภาพ เป็นมืออาชีพ ทันสมัยเข้าใจโลกจึงจะฝ่าวิกฤติประเทศได้
วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เครือเนชั่น โดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และเนชั่นทีวี ช่อง 22 ร่วมกันจัดงานสัมมนา Thailand Survival ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก โดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อเศรษฐกิจไทยจะก้าวผ่านอย่างไร?
นายสุวัจน์ กล่าวว่าขณะนี้โลกเผชิญสองเรื่องคือ เรื่องของโลกกับเรื่องของเรา เรื่องของโลกคือ ปัญหาเงินเฟ้อ สืบเนื่องจากโควิดที่เรากู้เงินเยอะ มีการใช้จ่ายเยอะสภาพคล่องเยอะ ยิ่งสถานการณ์สงคราม ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจึงต้องขึ้นดอกเบี้ย ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายโลกและกระทบกับประเทศไทย
นายสุวัจน์ กล่าวว่าการแก้ปัญหาขอเสนอ 5 แนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศไทย คือ
1.เรื่องเศรษฐกิจขณะนี้มีปัญหาเงินเฟ้อของแพง หวังนักลงทุนมาคงลำบาก นักท่องเที่ยวลดลง ดังนั้นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ตอนนี้มีเพดานเงินกู้ 60 % GPD หากจำเป็นต้องใช้เงินกู้ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจยังจำเป็นต้องทำ และเป็นการแก้ปัญหาได้ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะเรายังมีเพดานเงินกู้อยู่และมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอ
2.การช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเป็นห่วง SME ต้องทำให้อยู่ได้ ถ้า SME อยู่ไม่ได้อุตสาหกรรมใหญ่อยู่ไม่ได้ เพื่อรองรับการฟื้นฟูของกิจการ เช่น เรื่องรถยนต์ เรื่องการท่องเที่ยวต้องให้อยู่ได้เพื่อเป็นฐานของประเทศ
3.การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดและสำคัญคือ การท่องเที่ยว เพราะเขาไม่ต้องการความเชื่อมั่นอะไรที่ยาวๆ เขามองแค่มาแล้วปลอดภัย เราจึงต้องมีมาตรการเสริมความง่ายในการเข้าประเทศ เรื่องวีซ่าต่างๆ จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจ ยิ่งตอนนี้ค่าเงินบาทอ่อนทำให้เราได้เปรียบ นักท่องเที่ยวเขาไม่มองเรื่องนักลงทุน เรื่องรัฐบาลหรือการเมือง
4.ต้องแก้ไขสินค้าราคาแพง รัฐบาลต้องช่วยกันลงมาช่วยดูราคาสินค้าอย่างจริงจัง ไม่ว่าสินค้าอุปโภคบริโภค ทำอย่างไรจะพูดคุยกับผู้ประกอบการ นักลงทุน ให้เห็นใจประชาชน อะไรที่ต้องใช้กฎหมายต้องใช้ อะไรที่ควรขอความร่วมมือต้องขอความร่วมมือ ไม่ว่าค่าไฟ สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ หรือมาตรการในการมีสินค้าราคาถูก
5.ราคาพลังงานแพง เราควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือ มาตรการรณรงค์การประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง อาทิ การใช้รถยนต์ การเปิดแอร์ เป็นต้น ทั้ง 5 เรื่องคือมาตรการที่เราจะได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
นายสุวัจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทย เรามี 5 เรื่องที่ต้องทำ คือ
1.หาตัวตนของประเทศ เรามีการเกษตรฯ อาหาร ท่องเที่ยว ซอฟท์พาวเวอร์ ที่แข็งแกร่ง เรื่องเกษตรไม่มีใครสู้ประเทศไทยได้ จึงต้องทำแผนไม่ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ แต่เราจะส่งออกเป็นอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่ม SME เพิ่มห่วงโซ่การผลิต และเพิ่มผู้ประกอบการเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง เพราะเป็นจุดแข็ง ส่วนการท่องเที่ยวเรามีธรรมชาติ มีรอยยิ้ม เพียงแต่บริหารจัดการ เกษตรฯ อาหาร ท่องเที่ยว ทั้งสามอย่างต้องเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหลังจากนี้ไป
2.เปลี่ยนพลังงานทดแทนเป็นพลังงานหลัก เราต้องเริ่มต้นอย่างจริงจัง วันนี้ต้องเปลี่ยนเป็นพลังงานหลัก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องผลิตไฟฟ้าทดแทนมาเป็นพลังงานหลักเพื่อดึงต้นทุนการไฟฟ้าลงมา
3.เรื่องผู้สูงอายุ เรามีประมาณ 12 ล้านคน อีก 20 ปี เราจะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน เราจึงต้องเปลี่ยนผู้สูงอายุมาเป็นพลังในการผลิตของประเทศ การเกษียณอายุต้องปรับโครงสร้างอายุใหม่ วัยการทำงานของประเทศใหม่
4.สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลงเรื่อยๆ
5.เราต้องใช้ความได้เปรียบของภูมิศาสตร์ของเรา ถ้าเรามีนโยบายการทูตอยู่ตรงกลางเป็นมิตรกับทุกกฝ่าย เข้าได้กับทุกกลุ่ม ได้ประโยชน์จากการเป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่ที่จะเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ต่างๆ ทั้ง 5 เรื่องจะพลิกฟื้น สร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มั่นคงให้ประเทศไทย
“หลังการเลือกตั้งคนที่จะผลักดันเรื่องเหล่านี้ภาคการเมืองสำคัญที่สุด เราต้องมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ มั่นคงเราต้องให้ตัวละครทางการเมืองรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ที่ทันสมัย เข้าใจโลก เข้าใจเศรษฐกิจ มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นเท่านั้นที่จะฉุดประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤติ มืออาชีพจากการเมืองเท่านั้นที่จะมาช่วยประเทศไทย การฝ่าวิกฤติเราต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ” นายสุวัจน์ กล่าวในตอนท้าย