สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ลุยจัดงานต่อเนื่อง ME(i)D Talk : The Secret of e-Health ปลดล็อกการแพทย์ไทย ด้วยดิจิทัลไอดี เสวนาออนไลน์ภายใต้แคมเปญ MEiD (มีไอดี) บริการไทย…ไร้รอยต่อ ดึงหน่วยงานผู้พัฒนา 2 แอปฯ ดัง อย่าง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ผู้พัฒนาแอปฯ ทางรัฐ กรมควบคุมโรค ผู้พัฒนาแอปฯ หมอพร้อม และเพจหมอหมี เม้าท์มอย อินฟลูเอนเซอร์ด้านสุขภาพ ร่วมเจาะลึกพาคนไทยทำความรู้จักกับ e-Health ทางเลือกสุขภาพ สู่การปลดล็อกสร้างมาตรฐานด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทยรองรับโลกอนาคตด้วย Digital ID คุณศุภโชค จันทรประทิน ทีมยกระดับมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย ศูนย์นโยบาย พัฒนามาตรฐานและหลักเกณฑ์การกำกับดูแล จาก ETDA กล่าวว่า e-Health เป็นหนึ่งบริการดิจิทัลด้านสาธารณสุขและทางการแพทย์ ที่ค่อนข้างมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเรามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงโควิด 19 ที่ต้องรักษาระยะห่างและการไปโรงพยาบาลอย่างที่เราเคยไปนั้นทำได้ยากขึ้น e-Health จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราและแพทย์สามารถติดต่อ เชื่อมโยงกันได้ง่ายและเข้าถึงกระบวนการรักษาในรูปแบบเบื้องต้นอย่างการรับคำปรึกษา การสอบถามอาการเพื่อวินิจฉัยอาการขั้นต้น เพื่อสั่งจ่าย-รับยา เช็คสิทธิรักษาพยาบาลหรือประวัติการรักษา ทางออนไลน์ในรูปแบบแพลตฟอร์ม หรือ แอปพลิเคชัน ซึ่งเราเชื่อว่า ผู้ป่วยทั่วไปที่เดินทางไปที่โรงพยาบาลมากกว่าครึ่งต้องการเพียงแค่พบและรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับยา ซึ่งอาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์เข้าช่วยในการรักษา ดังนั้น การมีแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบ e-Health เข้ามาแทนที่การรักษาแบบออฟไลน์ที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการเช็กสิทธิรักษา ตลอดจนประวัติการป่วยและการรับยาได้เร็วขึ้นในรูปแบบออนไลน์ จะทำให้ทั้งผู้ป่วยและแพทย์นอกจากสะดวกแล้ว ยังช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้าไปแออัดในโรงพยาบาล และการที่เราไม่ได้มาเจอหน้ากันเช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมั่นใจได้ว่า คนที่เข้ารับบริการเป็นผู้ป่วยตัวจริง และแพทย์ที่ให้คำปรึกษาวินิจฉัยโรคก็เป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพทั้งในการรักษาและการจ่ายยาจริง ที่สังกัดอยู่ในสถานพยาบาลนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นบริการ e-Health จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยี Digital ID เข้ามาช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้บริการ e-Health เพื่อให้บริการมีความปลอดภัย ตรวจสอบได้ และมั่นใจการใช้งานว่ากระบวนการทั้งหมด เป็นไปตามที่มาตรฐานที่กำหนด เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เราต่างก็ไม่สามารถมองข้ามได้ อย่าง แอปฯ หมอพร้อม และ แอปฯ ทางรัฐ ที่จะเห็นว่า ก่อนเริ่มต้นใช้งานเราจะต้องใส่ข้อมูลส่วนบุคคลของเรา ยืนยันตัวตนด้วยข้อมูลหน้าบัตรและหลังบัตรประชาชน มีการสแกนหน้า ตั้งรหัสต่าง ๆ เพื่อลงทะเบียนซึ่งทั้งหมดนี้ คือกระบวนการที่เรียกว่า Digital ID และถ้าผู้ใช้บริการมี Digital ID กับ D.DOPA ของกรมการปกครองแล้วก็สามารถเชื่อมต่อเข้าใช้บริการ e-Health ที่มีการเชื่อมระบบกับ D.DOPA ได้เลย ซึ่งปัจจุบัน แอปฯ ทางรัฐ ให้บริการลักษณะนี้แล้ว ในอนาคตถ้าเรามีบริการ e-Health ที่มีการนำ Digital ID เข้ามาใช้ในการยืนยันตัวตนให้บริการผ่านแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันที่หลากหลายครอบคลุมทุกความต้องการมากขึ้น การดูแลสุขภาพของคนไทยไม่เพียงทำได้ง่าย สะดวก เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น แต่ยังจะช่วยเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ทุกโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลทั่วประเทศมีมาตรฐานในการดูแลรักษาไม่แตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ นอกจาก e-Health เราจะเห็นว่า สถานพยาบาลหลายแห่งเริ่มปรับรูปแบบการให้บริการให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว อย่างใบสั่งจ่ายยา ใบเสร็จรับเงิน หรือแม้แต่ใบรับรองแพทย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งให้คนไทยเกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในทุกกิจกรรมก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนผลักดันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ด้าน คุณสุพัชรินทร์ กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลแลกเปลี่ยนข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ผู้ร่วมพัฒนาแอปฯ ทางรัฐ กล่าวว่า สำหรับ DGA เรามีการพัฒนา แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" เพื่อตอบโจทย์ทั้งส่วนของข้อมูลและการบริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เพราะ “ทางรัฐ” เรานำ Digital ID เข้ามาช่วยในการยืนยันตัวตนและเป็นแพลตฟอร์มเบื้องหลังของหลาย ๆ แอปพลิเคชันของภาครัฐที่มีให้บริการในแทบทุกมิติ รวมถึงมิติด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ที่ครอบคลุมบริการประวัติข้อมูลการใช้ยา ดูรายละเอียดยาง่าย ๆ ผ่านการสแกน QR Code เช็คสิทธิรักษาพยาบาลทั้งในส่วนของสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม เป็นต้น ซึ่ง “ทางรัฐ” จะเป็นตัวกลางที่ช่วยเชื่อมต่อข้อมูลส่วนบุคคล อย่าง Digital ID เข้ากับบริการภาครัฐอื่น ๆ อีกมากมายที่มีอยู่ในแอปฯ ทางรัฐ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการรัฐต่างๆ ได้เลย โดยไม่ต้องสมัครใหม่หรือยืนยันตัวตนแบบเดิมซ้ำ ๆ เพราะทุกหน่วยงานผู้ให้บริการมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันแล้วผ่านเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Digital ID ที่ไม่เพียงช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนมีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ แต่ยังเป็นเกราะอีกชั้นที่ช่วยในการปกป้องข้อมูลของเราในโลกดิจิทัลด้วย วันนี้ "ทางรัฐ" เปิดให้บริการมาเกือบ 2 ปี มียอดดาวน์โหลดแอปฯ แล้วกว่า 3 แสนครั้ง มีการลงทะเบียนด้วย Digital ID นับแสนครั้ง และยอดการใช้บริการ รวมกว่า 2.4 ล้านครั้ง ซึ่งหากแยกมาเฉพาะส่วนของการเข้าถึงบริการสุขภาพหรือการตรวจสอบสิทธิ์ด้านการรักษาพยาบาล พบว่า มีการใช้งานแล้วกว่า 2 แสนครั้ง ติด TOP 5 ของ แอปพลิเคชันด้านบริการสุขภาพที่ให้บริการในรูปแบบ e-Health และเนื่องจากเราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการให้บริการทางออนไลน์มาก ๆ จึงทำให้ปัจจุบัน "ทางรัฐ" มีมาตรฐานในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทียบเท่าธนาคาร ที่จะต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านการตรวจสอบด้วยไบโอเมตริก สแกนใบหน้า ที่ต้องหันซ้ายหันขวา การกระพริบตา รวมถึงการสแกนบัตรประชาชน ซึ่งครั้งแรกอาจดูยุ่งยาก แต่ก็มีความปลอดภัยสูงมากและทำแค่ครั้งเดียว ก็สามารถเข้าถึงบริการรัฐได้อีกหลากหลายบริการ นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ หัวหน้ากลุ่มสารสนเทศทางระบาด (EIU) กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผู้ร่วมพัฒนาแอปฯ หมอพร้อม กล่าวเสริมว่า "หมอพร้อม" เราเริ่มต้นพัฒนาขึ้นเพื่อเน้นให้บริการในเรื่องของวัคซีนโควิด-19 เป็นหลัก เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงการรับวัคซีนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ก่อนเริ่มขยายบริการด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การมีบันทึกข้อมูลประวัติผู้ป่วยที่สำคัญ ๆ ทั้งเรื่องของการแพ้ยา ประวัติการทานยา หรือโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ เป็นต้น เพื่อช่วยให้แพทย์ทำการรักษาต่อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ "หมอพร้อม" เรารองรับบริการทั้งในส่วนของ การจองคิว เช็คจุดสถานที่ในการรับวัคซีน ใบรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อใช้ในการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องการเดินทางสามารถแสดงผลการฉีดวัคซีนได้อย่างสะดวกและน่าเชื่อถือ ทั้งยังมีบริการใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งในทุกบริการจาก “หมอพร้อม” ได้นำ Digital ID เข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ไม่เพียงช่วยในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการหรือผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยในการตรวจสอบและยืนยันสถานะของแพทย์ผู้เซ็นต์ใบรับรองต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยภายในแอปฯ หมอพร้อมนั้น เราได้มีการแบ่งลำดับขั้นของความปลอดภัยไว้ 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 เป็นข้อมูลด้านวัคซีนและข้อมูลทั่วไปที่ถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลาย สามารถเข้าถึงด้วยระดับความปลอดภัยที่ไม่สูงมากนักและมีวิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และขั้นที่ 2 จะเป็นการเข้าถึงประวัติการรักษาพยาบาล ความปลอดภัยเทียบเท่ากับการเข้าใช้บริการทางการเงินกับธนาคาร และขั้นที่ 3 จะเป็นการเข้าถึงประวัติการรักษาอย่างเต็มรูปแบบ ที่มีเพียงหมอที่ทำการรักษาเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยแอปฯ หมอพร้อมเราจะมีมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ ทุกโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับหมอพร้อมก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่มีให้เหมือนกัน ซึ่งนี่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับหมอพร้อม ได้มีกรอบแนวทางในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาลให้เดินหน้าไปพร้อมกันทั้งระบบ โดย "หมอพร้อม" ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า "ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง" เพราะเรารู้ดีว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทุกคนไม่ว่าใคร อายุ หรือระดับรายได้เท่าไหร่ก็มีสิทธิที่จะเสี่ยงทั้งนั้น และคนไทยมีแอปพลิเคชัน Line กันทุกคน หมอพร้อม จึงให้บริการทั้งผ่านแอปฯและผ่าน Line ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ เรายังพบว่า มีกลุ่มคนโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่คนไทย ที่เข้าเมืองมาโดยไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีเอกสารแสดงตัวตน ตลอดจนผู้สูงอายุบางท่านที่มีบัตรประชาชนแบบเก่ามาก ๆ หรือมีเพียงปีเกิดไม่มีวันเกิด และเด็กแรกเกิดที่ยังไม่มีบัตรประชาชน ประเด็นเหล่านี้ก็เป็นที่มาของหลักการในการดำเนินงานของวหมอพร้อมตามที่ได้กล่าวข้างต้น เพื่อพัฒนาบริการที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงบริการสำคัญ ๆ อย่างเรื่อง วัคซีน ครอบคลุมทุกกลุ่มคนในประเทศไทย และในอนาคตเราก็อยากจะเห็น “หมอพร้อม” กลายเป็นแอปฯ ที่ใช้ยืนยันตัวตนแทนบัตรที่สามารถเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลทั่วไทย นพ. นิมิตร์ ศิริธนากิจ เพจหมอหมี เม้าท์มอย ที่ทำให้เรื่องสุขภาพยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย กล่าวว่า e-Health มีความสำคัญมาก ๆ ต่อระบบสาธารณสุขบ้านเรา เพราะการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพกับประชาชน จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้ดีขึ้น ที่สำคัญประชาชนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ ข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพได้ง่ายขึ้นและนำข้อมูลเหล่านี้ไปแก้ปัญหาสุขภาพของตัวเองได้ดีขึ้นและเมื่อมีสุขภาพดีก็จะไม่ต้องมาโรงพยาบาล เป็นการลดภาระทั้งบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล เชื่อว่าในอนาคต e-Health จะมีบทบาทสำคัญมาก ๆ ต่อวงการแพทย์และระบบสาธารณสุขของเรา และ Digital ID ไม่เพียงเข้ามาทำให้การให้บริการ e-Health ปลอดภัย น่าเชื่อถือเท่านั้น แต่ยังทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาได้ง่ายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและหากมีการรวบรวมข้อมูลการรักษาใว้ในที่เดียวผ่านแอปฯ หรือ แพลตฟอร์ม e-Health ยังทำให้แพทย์ทำการรักษาและวินิจฉัยผู้ป่วยได้ทันท่วงทีและผู้ป่วยเองก็สะดวก เพราะสามารถเข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ ขอเพียงมีแอปพลิเคชันที่รวบรวมประวัติการรักษาและมีการยืนยันตัวตนว่าเป็นเราและเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลทำการรักษาเราจริง ๆ ซึ่ง 4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้บริการเลือกใช้บริการด้านสาธารณสุข ได้แก่ เรื่องของความสะดวกสบาย ไม่ต้องไปโรงพยาบาลแต่หาหมอที่บ้านได้ ความรวดเร็วของการส่งต่อข้อมูลประวัติการรักษา ที่ครอบคลุมทั้งในระบบส่วนกลางหรือในแอปฯ e-Health ที่คนไข้มีและสามารถเปิดให้แพทย์ดูหรือการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัด เอกชนหรือว่าโรงพยาบาลรัฐ ก็ต้องเชื่อมโยง เพื่อให้สามารถทำการรักษาได้รวดเร็วมากขึ้น ลดโอกาสการรักษาที่ผิดพลาด การเข้าถึงที่ง่าย ใช้ง่าย สะดวก ก็จะเข้าถึงทุกช่วงอายุ ความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งต้องยอมรับว่า มีบางคนที่ยังไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล จึงเลือกที่จะยังไม่ใช้บริการ e-Health จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการด้านความปลอดภัย ในการปกป้องข้อมูลของผู้ป่วยหรือประชาชน ซึ่งถ้าแพลตฟอร์มหรือแอปฯ e-Health มีครบอย่างน้อยจาก 4 ข้อข้างต้น การใช้งานบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขผ่านบริการดิจิทัลต่าง ๆ ก็จะทำให้ผู้ใช้งานมีความเชื่อมั่น และการใช้งานจะแพร่หลายมากขึ้น สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดความรู้เกี่ยวกับ Digital ID ตลอดจนบริการที่มีการเชื่อมต่อ Digital ID เพิ่มเติมหรือรับชมงาน The Secret of e-Health ย้อนหลังได้ททางเพจเฟซบุ๊ก MEiD มีไอดี https://www.facebook.com/meid.thailand