สกสว. ร่วมกับ 11 ภาคี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จากมันสำปะหลัง สู่ สินค้าแปรรูปและนวัตกรรม แบบครบวงจร เสริมเขี้ยวเล็บเศรษฐกิจไทยด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในระยะแรก 1 พันล้านบาท วันนี้ (15 ก.ย. 65) ที่ สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จากมันสำปะหลัง และสินค้าแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลัง แบบครบวงจร ระหว่าง กรมการค้าต่างประเทศ กับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช., สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย, สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย, สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย, บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จํากัด, บริษัท เซ็นทรัล ฟู๊ด รีเทล จำกัด และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จํากัด (มหาชน) โอกาสนี้ นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลัง ตามความต้องการในตลาด ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จากมันสำปะหลัง ระยะแรกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยให้การสนับสนุนด้านการจัดหาวัตถุดิบและแปรรูป ด้นการต่อยอดวิจัยและนวัตกรรม และด้านการตลาด รวมไปจนถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักวิจัย ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และภาครัฐ ให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย การสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ และการจัดหาวัตถุดิบ ในการผลิตสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จากมันสำปะหลัง และสินค้าแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลัง อย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร ตลอดจนอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการประกอบธุรกิจ ทั้งในด้านผลงานวิจัย การให้ความรู้ด้านกฎระเบียบและมาตรฐานรับรอง ความคุ้มครองทางทรัพย์สินทางปัญญา การวางแผน และบริหารจัดการธุรกิจ การส่งเสริมการตลาด ตลอดจนด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ และประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อการประกอบกิจการของผู้ประกอบการสินค้าพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จากมันสำปะหลัง และสินค้าแปรรูปและนวัตกรรมจากมันสำปะหลัง โดยทั้งหมดที่กล่าว เป็นที่มาของความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ด้าน รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีประกาศเรื่องพระราชบัญญัติการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งการต่อยอดการวิจัย และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มเปลี่ยนที่สำคัญที่จะทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ประโยชน์ คือ ภาคเอกชนที่ทำวิจัยเองที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ สามารถขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยได้ รวมถึง Startup / Spinoff company สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากลดขั้นตอนการเจรจา เพื่อใช้สิทธิงานวิจัยและนวัตกรรมกับเจ้าของผลงานวิจัย นอกจากนี้สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และนักวิจัย สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งได้รับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พรบ.ฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์งานวิจัย ทำให้ประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับความร่วมมือ “ด้านการต่อยอดวิจัยและนวัตกรรม” โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการนำข้อมูลด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานวิจัยในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่ขั้นต้นน้ำคือการผลิตมันสำปะหลัง กลางน้ำคือการวิจัยและนวัตกรรม ไปจนถึงขั้นปลายน้ำคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมการวิจัยเพื่อสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การจัดการวัสดุหลังการใช้งาน การประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ให้สอดคล้องกับแรงขับเคลื่อนของประชาคมโลกที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย สกสว. จะทำหน้าที่ประสานชุดข้อมูลความรู้จากการวิจัยของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุน ววน. ทั้งหน่วยบริหารจัดการทุนและหน่วยวิจัยต่างๆ เพื่อส่งต่อให้แก่กรมการค้าต่างประเทศ และ ภาคเอกชนที่เข้าร่วมภาคี เพื่อสนับสนุนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดโลกต่อไป