SCN ปิดดีล PTT ส่งท้ายปี หนุน Non-Gas โต หวังประมูลงานปีหน้า ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สแกน อินเตอร์ หรือ SCN ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน และขนส่งแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะงานปฏิบัติการและบำรุงรักษาสถานีก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มูลค่า 240.5 ล้านบาท ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล และภูมิภาค โดยขยายพื้นที่ความรับผิดชอบ และจำนวนสถานีเพื่อปฏิบัติการและบำรุงรักษาสถานีก๊าซธรรมชาติจากเดิมครอบคลุม 50% เป็น 75% ของประเทศ
นอกจากนี้บริษัทยังรอประกาศผลงานประมูลการก่อสร้างสถานีให้บริการน้ำมันรูปแบบใหม่ จากบริษัท ปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มูลค่า 100 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับก๊าซ (Non-Gas) ถือเป็นธุรกิจใหม่ของ SCN ที่น่าจะมีความโดดเด่นในอนาคต
ดร.ฤทธี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีหน้าบริษัทตั้งเป้าที่จะเข้าประมูลงานในส่วน Non-Gas มูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจ Non-Gas ถือเป็นอีกธุรกิจที่บริษัทให้ความสำคัญ เนื่องจากเห็นว่าจะมีโอกาสสร้างการเติบโตได้ต่อเนื่องจากการรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งบริษัทมีศักยภาพในการดำเนินการ พร้อมทั้งคาดว่าจะเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ
ด้านธุรกิจอื่นๆ ยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คาดว่าโรงไฟฟ้าเฟสที่ 2 ที่เมืองมินบู ประเทศเมียนมาร์ จะแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ COD ได้ ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตให้ได้ 200 เมกะวัตต์ในปี 2568
ส่วนธุรกิจโซลาร์ รูฟท็อป ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด หรือ SAP ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 25 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่ราคาไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมหันมาให้ความสนใจกับพลังงานโซลาร์ รูฟท็อปมากยิ่งขึ้น
ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) และ ก๊าซธรรมชาติเหลว (iLNG) ภายหลังจากที่บริษัท Toho Gas ซึ่งเป็นบริษัทก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น เข้ามาร่วมลงทุนในบริษัท เครือข่ายก๊าซ ไทย-ญี่ปุ่น จำกัด (TJN) ถือว่าส่งผลดีและสร้างความเชื่อมั่นในกับ SCN ในฐานะผู้นำธุรกิจ iCNG ในประเทศไทย โดยตั้งเป้ายอดขาย 10,000 MMbtuต่อวัน
ขณะที่ธุรกิจการปลูกกัญชงแบบ Indoor บนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร คาดว่าเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 ของปี 2565 โดยมีกำลังการผลิต 200 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจในเฟสแรกประมาณ 270 ล้านบาทต่อปี