วันที่ 9 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประธานเปิดงานโครงการท่องเที่ยวศูนย์เรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข ครั้งที่ 7 “มหัศจรรย์ 100 ไร่ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” โดยมีนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ตนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้มีเกียรติร่วมพิธีในบรรยากาศทุ่งดอกไม้ที่เนรมิตรพื้นที่ 100 ไร่ ณ ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยทางการเกษตร(100 ไร่) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตำบลไชยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายสุวัจน์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดโครงการท่องเที่ยวเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เพื่อความสุขขึ้นเป็นปีที่ 7 โดยใช้พื้นที่ของศูนย์อบรมและวิจัยทางการเกษตร 100 ไร่ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งคอนเซ็ปท์ปีนี้ดีมากที่บอกว่า “มหัศจรรย์ 100 ไร่ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” เพราะสถาบันราชภัฏนั้น ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ของจังหวัดนครราชสีมา ปีหน้าก็จะครบ 100 ปี และภารกิจที่สําคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตามเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยคือ การที่จะตอบสนองพัฒนาท้องถิ่น นอกเหนือจากงานวิชาการโดยทั่วไป การที่ได้มีพื้นที่ บริเวณสวน 100 ไร่ และเป็นศูนย์อบรมวิจัยทางการเกษตรถือว่าเป็นงานวิชาการอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้ต่อยอดเพื่อให้งานวิจัยได้มีความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งการประยุกต์ใช้งานวิชาการ งานวิจัยจากสวน 100 ไร่แห่งนี้ เข้ามาในเรื่องของการท่องเที่ยว ในเรื่องของเกษตร อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสําคัญมากในการที่จะผสมผสานงานวิจัย งานวิชาการ ผสมผสานกับภารกิจในเรื่องท้องถิ่น ผสมผสานกับเรื่องเศรษฐกิจ “วันนี้ ภารกิจที่สําคัญของประเทศคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยว เราประสบปัญหาเรื่องโควิดกันมาสองปีกว่า วันนี้ทำท่าว่าจะจบ แต่ตอนนี้ก็เริ่มมาอีกซึ่งทั่วโลกก็หวั่นวิตกเพราะผลกระทบสองปีที่ผ่านมาทั้งโควิด เรื่องน้ำมัน เรื่องสถานการณ์การสู้รบ เรื่องสงครามการค้า เรื่องของการเปลี่ยนแปลงเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ฉะนั้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ เริ่มมีผลกระทบถ้าเราได้ติดตามข่าวต่างประเทศทุกสํานักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจจะประเมินว่าปีหน้าเป็นปีที่โลกจะยากลําบากในเรื่องของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ทุกแห่งจะมีการทบทวนตัวเลขการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และของโลกด้วย โดยเฉพาะของประเทศไทยเมื่อ สองสามวันจะเห็นข่าวว่ามีการแถลงถึงตัวเลขการส่งออกของประเทศที่ดีมาตลอด ตอนนี้เริ่มชะลอตัวลง เริ่มลดอัตราการเติบโต ฉะนั้น สิ่งที่เราได้เห็นตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับตัวเรากับการประเมินของทั่วโลกจะเห็นได้ว่าปีหน้า น่าที่จะยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่ง ที่เราจะต้อง ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ให้กับพี่น้องประชาชน”นายสุวัจน์ กล่าวและย้ำว่า “พื้นฐานที่สําคัญของประเทศไทยมีเรื่องการส่งออก 80 % ของมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ. สมมุติปี GDP 15 ล้านล้านบาท 80% เป็นเรื่องการส่งออกส่ง แต่อีก 15% เป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ฉะนั้น ถือว่าประเทศไทยโชคดีที่มีทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว คือ เวลาที่ส่งออกไม่ดี แต่ถ้าเรามีพื้นฐานการท่องเที่ยวจะเป็นตัว ที่เรียกว่าการบริหารความเสี่ยงของประเทศเป็นตัวที่จะถ่วงดุลให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ และในเรื่องของการท่องเที่ยวมีประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะพฤติกรรมการท่องเที่ยวมาด้วยความรวดเร็ว คือ ปลอดภัย อาหารอร่อย ธรรมชาติสวย แต่ในเรื่องการส่งออก การลงทุนนั้น เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในนโยบายประเทศ เชื่อมั่นในสิ่งต่างๆ หรือเชื่อมั่นในโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบการตัดสินใจ ฉะนั้น เวลาที่จะฟื้นประเทศ ถ้าฟื้นด้วยการท่องเที่ยวจะฟื้นได้เร็ว” นายสุวัจน์ กล่าวว่าพอเราเปิดประเทศมาได้สักครึ่งปี นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดิม 40 ล้านคน ช่วงโควิดหายไปแทบจะเป็นศูนย์ พอเปิดประเทศมาตั้งแต่กลางปีมีนักท่องเที่ยวกลับมาอาจจะได้ถึง 20-25% ถือว่าการฟื้นตัวจากจํานวนนักท่องเที่ยวจาก 40 ล้าน ปีนี้อาจจะกลับมา 8 ล้านถึง 10 ล้าน รวดเร็วก็เลยทําให้อัตราการเติบโตทาง GDP ของประเทศ ปีนี้เราไม่ได้ติดลบ แต่อาจจะบวกประมาณ 2-3 % แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีความสําคัญอย่างมาก โดยธรรมชาติของการท่องเที่ยวก็จะใช้จ่ายไปทุกอาชีพ ไปทุกหมู่บ้าน ไปทุกตําบล. ฉะนั้น รายจ่ายที่นักท่องเที่ยวจ่ายและรายได้ที่ประชาชนได้รับจะกระจายตัว ไม่กระจุกตัวเหมือนเรื่องของการลงทุนของอุตสาหกรรมที่จะอยู่ในพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดเฉพาะ แต่การท่องเที่ยวไปทุกตารางนิ้วทุกหมู่บ้าน ทุกอาชีพ ทุกตําบล ดังนั้น พอมีพื้นฐานการท่องเที่ยวก็เลยทําให้เศรษฐกิจของเราฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ถ้าประเมินจากสถานการณ์โดยภาพรวมของโลก วิธีหนึ่งที่จะทำให้ประเทศชาติของเราเศรษฐกิจฟื้นตัว พี่น้องประชาชนจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ก็คือ ต้องบูมเรื่องการท่องเที่ยว “วันนี้ ภารกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏ นอกจากการต่อยอดทางวิชาการแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมในเรื่องของการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวให้กับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งราชภัฏนครราชสีมามีอยู่ในมือหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน อันนั้นถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่ง,สวน 100 ไร่, เรื่องไดโนพาร์คที่มหาลัยราชภัฏกําลังทําโครงการขอใช้พื้นที่พัฒนาประมาณ 600-700 ไร่ ให้เป็นไดโนพาร์คที่สร้างอยู่บนพื้นที่ที่อยู่ข้างล่างขุดไปแล้วเจอซากไดโนเสาร์จริงๆ ซึ่งหากราชภัฏทําโครงการนี้สําเร็จ ถือว่าเป็นโครงการระดับอินเตอร์ที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งเรื่องสําคัญที่สุดที่พี่น้องประชาชนชาวโคราชทุกคนรอฟังคําตอบ รอฟังข่าวดี ว่ายูเนสโกจะให้โคราชเป็นอุทยานธรณีโลกหรือไม่ อันนี้ถือว่าจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากฉะนั้น เดือนเมษายน 2566 นี้ หากยูเนสโก ตัดสินให้ประเทศไทยมีอุทยานธรณีโลกแห่งที่สอง นอกเหนือจากจังหวัดสตูลก็คือ จังหวัดนครราชสีมา จะถือว่าเป็นข่าวใหญ่ และจะเป็นภารกิจที่สําคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏกับคณะผู้บริหาร จะต้องดูแลบริหารอุทยานธรณีโลก ดูแลบริหารไดโนพาร์ค ดูแลบริหารสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และดูแลบริหารศูนย์อบรมและวิจัยทางการเกษตรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว” ฉะนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จะมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่ 4 แห่ง ที่จะต้องบูรณาการร่วมกันและทั้ง 4 แห่ง ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเป็นสากล อย่างเช่น ไม้กลายเป็นหินก็มีความเป็นสากล ไดโนพาร์คก็มีความเป็นสากล. อุทยานธรณีโลก ยิ่งใหญ่ที่สุด หากเราสามารถจะเชื่อมโยงอุทยานธรณีโลก เข้ากับแหล่งอื่นที่ยูเนสโกได้ประกาศรับรองจังหวัดนครราชสีมาไว้แล้วที่เรียกว่า The UNESCO Triple Crown คือมรดกโลกที่เขาใหญ่, พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช อ.ปักธงชัย และถ้าเราได้ อุทยานธรณีโลก อีก 5 อำเภอ (อำเภอเมือง เฉลิมพระเกียรติ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ) คือ สามมงกุฎทางด้านการท่องเที่ยวโคราชจะยิ่งใหญ่ เพราะสามารถที่จะดีไซน์ให้เกิด “ยูเนสโก รูท” คือ เส้นทางท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมที่ยูเนสโกประกาศ นายสุวัจน์ กล่าวว่า โคราชมี soft power ที่อุดมสมบูรณ์ 3-4 แห่ง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏดูแลแล้วยังมีอีกสองเรื่องที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นตัวตัดสินให้กับโคราช นั้นคือ 1.โครงการมอเตอร์เวย์ ถ้าเร่งผลักดันมอเตอร์เวย์เสร็จในปีหน้า กรุงเทพ-โคราช ใช้เวลาเดินทางหนึ่งชั่วโมงสี่สิบห้านาที กรุงเทพ-เขาใหญ่ ใช้เวลาเดินทางหนึ่งชั่วโมง 2.โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช หนึ่งชั่วโมงสิบห้านาที ฉะนั้น โคราชจะเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ที่มีเส้นทางการคมนาคมที่สามารถจะเชื่อมโยงเมืองหลวงกับภาคอีสาน โดยมีโคราชเป็นประตูสู่อีสานจะพานักท่องเที่ยวมาโคราชอย่างมหาศาล และโอกาสในการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาในเรื่องการท่องเที่ยวจะเป็นสิ่งที่สําคัญและยั่งยืนในเรื่องของ soft power ในเรื่องของวัฒนธรรมต่างๆ อาทิเรื่องไดโนพาร์ค, เรื่องไม้กลายเป็นหิน และเรื่องอุทยานธรณีโลก “วันนี้ ถือว่าเป็นต้นแบบอย่างหนึ่งที่มหาลัยราชภัฏได้ทําในเรื่องของการท่องเที่ยวก็อยากให้มหาวิทยาลัยได้ใช้บุคลากร ใช้งานวิชาการที่มีอยู่ช่วยมาพัฒนาเรื่องนี้ ให้เป็นจุดแข็งให้ไปเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สําคัญของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป”นายสุวัจน์ กล่าว ทั้งนี้ การจัดงาน มหัศจรรย์ 100 ไร่ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2565 – 15 มกราคม 2566 โดยเปิดไร่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในเวลา 08.00- 18.00 น. ณ ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยทางการเกษตร 100 ไร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ภายในงานได้รวมรวมความมหัศจรรย์เต็มร้อยทุกพื้นที่ อาทิ มหัศจรรย์ดอกไม้บาน Wonder blooming flowers ชมความงามของทานตะวันหลังนา ดอกไม้หลากสีสันบานสะพรั่งเต็มทุกพื้นที่ 100 ไร่ , มหัศจรรย์ร้อยรสความอร่อย Wonder food good taste อาหารอร่อยชื่อดังยกทัพมาเสิร์ฟความอร่อย อาทิ ร้านอาหารที่ออกรายการครัวคุณต๋อย , มหัศจรรย์รถในฝัน Amazing dream car นวัตกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า, มหัศจรรย์แห่งเสียงเพลง Miracle of music เพลิดเพลินกับบทเพลงแสนไพเราะ , มหัศจรรย์พันธุ์ไม้งาม กระบองเพชร cactus และสับปะรดสี จากสวนดัง , มหัศจรรย์ WONDER TOYS เพลิดเพลินกับของเล่นแสนสนุก , มหัศจรรย์ DINO HUNTING สนุกกับการตามล่าฟอสซิลไดโนเสาร์ , มหัศจรรย์ Healthy for Long Life สาระน่ารู้กับทักษะการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง สู่การมีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาว , มหัศจรรย์ มหกรรมแพะภาคอีสาน ชมการประกวดแพะแกะของชมรมผู้เลี้ยงแพะแกะโคราช ครั้งที่ 3 พร้อมชิมเมนูแพะเมืองย่า , มหัศจรรย์งานวิชาการ นิทรรศการผลงานวิจัยและบริการวิชาการ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ชมการประกวดการจัดตู้ปลาสวยงามและนิทรรศการเครื่องปั้นดินเผา นอกจากนี้ ยังมีการจัดงาน ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมอย่างเชื่อมโยง แหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อาทิ สวนสัตว์นครราชสีมา , จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช และอุทยานเรียนรู้สิรินธร เป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ในการท่องเที่ยวของเมืองโคราชต่อไป