เมื่อเร็วๆนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมกับสหภาพยุโรป สำนักเลขาธิการอาเซียน UNCDF และ จัดเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่ดี The High Level Policy Dialogues ภายใต้โครงการเมืองอาเซียนสีเขียวอัจฉริยะ (Smart Green ASEAN Cities) มุ่งเสริมสร้างพลังการพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมในอาเซียนเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเวทีเสริมสร้างขีดความสามารถของเมืองในภูมิภาคอาเซียน ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Smart and Green Cities พร้อมสร้างเครือข่ายการทํางานร่วมกัน เป็นพลังและ กลไกที่สําคัญให้ภูมิภาคอาเซียนเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ทําหน้าที่หน่วยงานประสานงานกลาง (National Focal Point) คณะทํางานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ASEAN Working Group on Environmentally Sustainable City) ประเทศไทย มุ่งเป้ายกระดับการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองตามมาตรฐาน และความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 และโครงการเมืองสีเขียวอาเซียนอัจฉริยะ (Smart Green ASEAN Cities: SGAC) ก็เป็นโครงการที่สนับสนุนการดําเนินการและความสําเร็จของเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในระดับเมือง ระดับชาติ และระดับภูมิภาค ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยระบบข้อมูล ดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเมือง รวมทั้งระหว่างเมืองต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ระหว่างเมืองในอาเซียนและยุโรป โดยเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ The High Level Policy Dialogue นั้น ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานประสานงานกลาง (National Focal Point) คณะทํางานอาเซียน ด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (AWGESC) จากประเทศสมาชิกอาเซียน สํานักเลขาธิการอาเซียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและสหภาพยุโรป ข้อสรุปจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ พบว่าปัจจัยความสำเร็จการจัดการและพัฒนาเมือง Smart Green City เพื่อมุ่งเป้าความน่าอยู่อย่างยั่งยืน กล่าวคือ (๑) การกำหนดเป้าหมายและนิยาม “เมืองน่าอยู่” ให้มีความชัดเจน (๒) ยึดหลัก 4P กล่าวคือ ประชาชน (People) ภาคเอกชน (Private) ภาครัฐ (Public) และความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเมืองร่วมกัน (Partnership) (๒) การตัดสินใจ วางแผน และขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองบนพื้นฐานของข้อมูล (๓) การใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับเครื่องมือด้านสังคมในการวางแผนและแก้ไขปัญหา (๔) การสร้างการมีส่วนร่วมในระบบการเงิน การลงทุนของเมืองเพื่อใช้ในการพัฒนาและจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง เช่น การจัดตั้งกองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมืองจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการใช้แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากกิจกรรมการพัฒนาเมือง เช่น การลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาดโดยเก็บค่าบริการจากประชาชนที่มาใช้บริการ การให้เช่าพื้นที่สีเขียวเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ (๕) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและการบริการที่ยั่งยืน และ (๖) ยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน