กสศ. เปิดข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 65 พบรายได้ครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษเฉลี่ยเหลือ 34 บาทต่อวัน
กสศ. เปิดข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 65 พบรายได้ครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษเฉลี่ยเหลือ 34 บาทต่อวัน สวนทางเงินเฟ้อที่ลดมูลค่าเงินอุดหนุนของรัฐ ชี้การลงทุนเพิ่มโอกาสการศึกษาให้เด็กยากจน 2.5 ล้านคนมีรายได้ถึงฐานภาษี จะนำไปสู่จุดเปลี่ยนประเทศรายได้สูงใน 20 ปี
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 นำเสนอแนวโน้มผลกระทบที่เป็นจุดเสี่ยงทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาและข้อเสนอนโยบายสู่การฟื้นฟูระบบการศึกษาไทยให้มีความเสมอภาค โดยพบว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล – ม.3) จำนวนประมาณ 9 ล้านคน อยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รายงานว่า จากการสำรวจสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน
หากพิจารณาโดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึง 2,762 บาทต่อคน/เดือน และหากเปรียบเทียบข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ถึงปีการศึกษา 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดลงมากถึงร้อยละ 5 โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เฉพาะสังกัด สพฐ. อยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งมีนักเรียนกว่า 1.3 ล้านคน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) จาก กสศ. และนักเรียนยากจนอีก 1.8 ล้านคน กสศ. ได้สนับสนุนผลการคัดกรองให้ต้นสังกัดจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม
“จากการประมาณการของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยวิเคราะห์แนวโน้มของดัชนีราคาผู้บริโภคตามอัตราเงินเฟ้อและมูลค่าที่แท้จริง พบว่า ในปี 2563-2566 ดัชนีราคาผู้บริโภคด้านอาหารและการเดินทางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงในการใช้ชีวิตของครัวเรือน ผู้ปกครองและนักเรียน จึงเพิ่มสูงขึ้น แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคด้านการศึกษาจะมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยก็ตาม ดังนั้นครัวเรือนจึงมีแนวโน้มที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายประจำวันในด้านต่างๆ ที่สูงขึ้น อาจจะส่งผลต่อกำลังในการสนับสนุนการศึกษาให้บุตรหลานลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวผู้ยากจน ด้อยโอกาส”
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค กล่าวว่า จากการศึกษาถึงแหล่งรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้ของผู้ปกครองร้อยละ 59 มาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน รองลงมาร้อยละ 53.9 คือเงินเดือนหรือค่าจ้าง และรายได้จากการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 42.4 ตามลำดับ เมื่อประมวลปัญหาของนักเรียนยากจนพิเศษซึ่งควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พบว่ามีสภาพครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพิง มีผู้พิการ เจ็บป่วยเรื้อรัง โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่กว่าร้อยละ 38 และอาศัยอยู่ในครอบครัวยากจนที่มีสมาชิก 5 คนขึ้นไป โดยที่มีผู้ปกครองลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐกว่าร้อยละ 31
“โจทย์ท้าทายของการสร้างความเสมอภาคด้านการศึกษาไทยในอนาคต ต้องพิจารณาบนพื้นฐานผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ช่วงสองสามปีผ่านมา ทุนเสมอภาคที่เคยอุดหนุนให้กับนักเรียนยากจนพิเศษในปีการศึกษา 2561 จำนวน 3,000 บาท หากคำนวณใหม่ในปี 2566 ที่มีแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปร้อยละ 3.1 พบว่ามูลค่าที่แท้จริงลดลงเหลือเพียง 2,728 บาท เช่นเดียวเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในระดับประถมศึกษาที่เคยอุดหนุนในปี 2554 จำนวน 1,000 บาทต่อคนต่อปี หรือวันละ 5 บาท และในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3,000 บาทต่อคนต่อปี หรือวันละ 15 บาท คิดมูลค่าที่แท้จริงตามอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 พบว่าเหลือเพียง 840 บาท และ 2,521 บาทตามลำดับ ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพและสถานการณ์เงินเฟ้อที่คาดการณ์ว่าจะสูงถึงร้อยละ 4-5 และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีกในอนาคต”
เพื่อรักษามูลค่าที่แท้จริงของอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ควรเป็นในปี 2565 ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ระบุว่า กสศ. เสนอว่ารับบาลควรเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในปัจจุบันที่จัดสรรให้ระดับประถมศึกษา จาก 1,000 บาท เป็น 1,190 บาท และระดับมัธยมต้น จาก 3,000 เป็น 3,300 บาท ขณะที่ทุนเสมอภาคซึ่งสนับสนุนนักเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับ จาก 3,000 บาท เป็น 3,300 บาท เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา
“ที่ผ่านมามีงานวิจัยของยูนิเซฟในปี 2015 ชี้ว่าจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 500,000 คน จะส่งผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศถึง 1.7% ของ GDP หรือคิดเป็น 6,520 ล้านดอลลาร์ ส่วนข้อมูลจากงานวิจัยของ Eric Hanushek ในปี 2020 ได้ลองคำนวณว่าถ้าเด็กทุกคนในประเทศไทยบรรลุการศึกษาตามมาตรฐานสากล จะทำให้ GDP ของประเทศเติบโตได้ถึง 5.5% ไปได้ตลอดทั้งศตวรรษที่ 21 หรือในอีกทางหนึ่งถ้าไทยสามารถทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ได้สำเร็จ จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มถึง 3% ไปจนสิ้นศตวรรษเช่นกัน”
จากประเด็นดังกล่าว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้มีข้อเสนอนโยบายเพื่อฟื้นฟูระบบการศึกษาไทยให้มีความเสมอภาคและเกิดความยั่งยืนในอนาคต โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ประเมินสถานการณ์ความยากจนในปี 2565 ในมิติกำลังซื้อทางการศึกษาว่าเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระบบการศึกษา ด้วยมุมมองการลงทุนเพื่อพยุงอำนาจและกำลังซื้อให้ผู้ปกครองยังคงมีกำลังส่งบุตรหลานให้อยู่ในระบบการศึกษา
ดร.ไกรยส ระบุว่า ระดับการศึกษาส่งผลต่อการมีรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ จากผลสำรวจระดับการศึกษาของผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดย กสศ. พบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษจบการศึกษาสูงสุดเพียงระดับประถมศึกษา มีเพียงร้อยละ 0.9 เท่านั้นที่จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า โดยมีค่าเฉลี่ยรายได้อยู่ที่ 1,949-3,372 บาท ขณะที่ปัจจุบันรายได้ขั้นต่ำของประชากรที่เข้าสู่ฐานภาษีเฉลี่ย 26,584 บาท/เดือน โดยมีประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 11 ล้านคน หากสามารถทำให้นักเรียนยากจน 2.5 ล้านคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมีรายได้สูงถึงฐานภาษี นอกจากจะส่งเสริมคุณภาพชีวิตยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมให้ดียิ่งขึ้น
“การที่ประเทศไทยมีเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงใน 20 ปี รายได้เฉลี่ยขั้นต่ำของประชากรควรอยู่ที่ 38,000 บาท/เดือน แต่ปัจจุบันนี้ประชากรไทยยังมีรายได้เฉลี่ยเพียง 20,920 บาท/เดือน ดังนั้นการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อผลักดันให้มีจำนวนการจบปริญญาตรีหรือสูงกว่าเพิ่มขึ้น การเพิ่มสมรรถนะของสถานศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศเพื่อให้ตลาดแรงงานแข็งแรงพอที่จะยกระดับรายได้เฉลี่ยประชากรไปที่ 38,000 บาท/เดือนในอนาคต ต้องลงทุนวันนี้ เพราะถ้าไม่ลงทุนวันนี้ เราจะสูญเสียโอกาสของประเทศ นี่คือค่าเสียโอกาสที่น่าเสียดายที่สุด”
ดร.ไกรยส นำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 โดย กสศ. พบว่า วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นส่งให้มีรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงานเพิ่มขึ้น โดยหากประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยมีวุฒิการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6 จะมีรายได้เฉลี่ย 9,136 บาท/เดือน หากมีวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 จะมีรายได้เฉลี่ย 10,766 บาท/เดือน ขณะที่วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะมีรายได้เฉลี่ย 13,118 บาท/เดือน และวุฒิปริญญาตรี จะมีรายได้เฉลี่ย 27,132 บาท/เดือน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือของ กสศ. ที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย พบว่า ในปีการศึกษา 2561 ที่มีนักเรียนชั้น ม.3 ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนจาก สพฐ. รวม 148,021 คน นักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6 ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 62,042 คน และ กสศ. ได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) พบว่า มีเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากการคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของ กสศ. เมื่อปีการศึกษา 2561 ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาต่อ กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินว่าหากเด็กนักเรียนทั้ง 20,018 คน สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะทำให้รายได้ตลอดช่วงชีวิตของพวกเขาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 66,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 ล้านบาท/คน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขถ้าสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ขณะเดียวกัน หากคำนวณต้นทุนที่ต้องช่วยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ในภาพรวม อยู่ที่ประมาณ 8,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 410,000 บาท/คน ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 7 เท่า
“สรุปได้ว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับการพัฒนาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะยิ่งมีเด็กเยาวชนไปถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นมากเท่าไร เราจะไปสู่ประเทศรายได้สูงได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การลงทุนกับการศึกษาถือเป็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ”
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า แนวทางฟื้นฟูระบบการศึกษาไทยให้มีความเสมอภาคและเกิดความยั่งยืนในอนาคต คือ การลงทุนทำให้ประเทศไทยมีฐานภาษีที่กว้างขึ้นจากการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีรายได้มากขึ้น โดยมีข้อเสนอว่า นอกจากการจัดสวัสดิการด้านการศึกษาแบบเท่ากันทุกคน (Universal) ด้วยฐานงบประมาณเรียนฟรี 15 ปีแล้ว ควรให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (Targeting) หรือการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขติดตามการคงอยู่ในระบบการศึกษาประกอบกัน ซึ่งการลงทุนด้านการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดย กสศ. ได้สรุปข้อเสนอ 3 รูปแบบ ดังนี้
1.) ข้อเสนอด้านอัตราอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ สำหรับงบประมาณ 2567
- ปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน (เรียนฟรี 15 ปี) โดยจัดให้ระดับอนุบาล 1,000 บาท / ระดับประถม 1,00 บาท / ระดับมัธยมต้น 4,000 บาท / ระดับมัธยมปลาย 9,000 บาท
- ปรับปรุงอัตราทุนเสมอภาค เริ่มตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัย-มัธยมปลาย โดยจัดให้รายหัว ระดับอนุบาล 4,000 บาท / ระดับประถม 5,100 บาท / ระดับมัธยมต้น 4,500 บาท / ระดับมัธยมปลาย 9,100 บาท
2.) ข้อเสนอเชิงคุณภาพ
- การจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข เพื่อติดตามผลการคงอยู่ในระบบการศึกษาของผู้เรียนและการศึกษาต่อหลังขั้นพื้นฐาน รวมถึงติดตามผลด้านพัฒนาการด้านกายภาพและการเรียนรู้
- การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและระบบส่งต่อการทำงานและติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการหลุดออกจากระบบซ้ำ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 7 กระทรวง เพื่อต่อยอดจากโครงการพาน้องกลับมาเรียน
- จัดทำมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการระดมงบประมาณ/ทรัพยากร จาก อปท. และการบริจาคจากภาคเอกชนเพื่อลดภาระทางการคลังของประเทศ
3.) เป้าหมายในอนาคต
- เพิ่มอัตราการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าของนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษให้สูงกว่าร้อยละ 20 ภายใน 5 ปี
- เยาวชนจากครัวเรือนยากจน/ยากจนพิเศษ ต้องก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น เข้าสู่ระบบฐานภาษีและรายได้เฉลี่ยถึงระดับรายได้สูงภายใน 10 ปี
“ข้อเสนอสำคัญคือการปรับเงินอุดหนุนให้ครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับ และปรับเพิ่มให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือระดับ ม.ต้น ซึ่งเป็นช่วงชั้นรอยต่อที่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด ขณะที่เงินอุดหนุนในระดับ ม.ปลาย จะช่วยดึงเด็กไว้ให้อยู่ในระบบจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และจะทำให้มาตรการการจัดสรรเงินอุดหนุนเกิดความคุ้มค่าในระยะยาว ร่วมกับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลส่งต่อเด็กเยาวชนตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 20 ปี และให้รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มแรงจูงใจภาคเอกชนในการระดมทรัพยากรมาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมเชื่อมโยงกับข้อมูลของกระทรวงการคลัง ดูแลไปถึงครอบครัวของเด็ก ถ้าสามารถทำได้ทั้งหมดนี้ ตัวเลข 14% ที่รายงานนำเสนอว่าคือจำนวนของเด็กยากจนและยากจนพิเศษที่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 20% ได้ภายใน 5 ปี และเยาวชนกลุ่มนี้จะก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น มีรายได้เฉลี่ยถึงระดับสูงสุดและเข้าสู่ฐานภาษีภายใน 10 ปี แล้วประเทศไทยจะออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้น” ดร.ไกรยส กล่าว
ทั้งนี้ ดร.ไกรยส วิเคราะห์ว่า หากเด็กเยาวชนใต้เส้นความยากจน 2.5 ล้านคนเข้าสู่ฐานภาษีได้ในรุ่นตนเอง จะเพิ่มจำนวนประชากรในระบบฐานภาษีจาก 11 ล้านคน เป็น 13.5 ล้านคน ประเทศไทยจะได้รับรายได้คืนกลับมาเป็นงบประมาณที่นำไปใช้จัดสวัสดิการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต โดยคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุนแบบ IRR อยู่ที่ประมาณ 9% ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า และยังสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐประมาณ 2.7%
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การแก้ปัญหาการศึกษาจำเป็นต้องแก้ไขในหลายมิติไปพร้อมกัน เพื่อแก้ปัญหาเด็กกลุ่มยากจนพิเศษหลุดจากระบบการศึกษา โดยพุ่งเป้าไปที่ปัญหาต่าง ๆ การแก้ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ของแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน และโจทย์สำคัญที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องทำงานร่วมกับ กสศ. คือการพัฒนาโรงเรียนและนักเรียนให้สอดคล้องกับปัญหาของนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ให้มีระบบโภชนาการหรือมีอาหารแต่ละมื้อที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนระหว่างมาเรียน หรือมีสื่อการเรียนการสอนที่จำเป็นต่อการเรียนที่เพียงพอ ซึ่งทั้งสองส่วนอาจจะยังมีปัญหาในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะเกิดจากการจัดสรรงบประมาณรายหัว แต่ปัจจุบันได้มีการเพิ่มงบประมาณพิเศษในกับโรงเรียนกลุ่มนี้และเด็กยากจนพิเศษ จากปกติงบอาหารกลางวันคนละ 21 บาท เป็น 34 บาท นอกจากนี้ สพฐ. ได้เร่งสร้างความร่วมมือกับ กสศ. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กทุกกลุ่มโดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา และมีความเชื่อมั่นว่าการศึกษาที่สูงขึ้นไม่เพียงแต่จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ แต่ยังเป็นหลักประกันสำคัญของแต่ละครอบครัว และหลักประกันของการพัฒนาประเทศในอนาคตอีกด้วย
ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองเห็นเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาสอดคล้องกับ กสศ. คือการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในอนาคตประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ ให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ปีละ 5% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ตรงตามเป้า เพราะปัจจัยสำคัญคือมีแรงงานของประเทศลดลงในอนาคต รัฐบาลจึงจำเป็นต้องชดเชยแรงงานกลุ่มนี้ด้วยการหันไปพัฒนาด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น
“กสศ.ได้แสดงให้เห็นตัวเลขที่สำคัญว่า หากประชากรโดยเฉพาะเด็กกลุ่มยากจนพิเศษมีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตก็จะขยับตาม เพราะรายได้เฉลี่ยของแต่ละครอบครัวสูงขึ้น รวมถึงการศึกษาจะเป็นหลักประกันสำคัญให้ประชากรสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย” ดร.ดอน กล่าว
ดร.ยุทธภูมิ จารุเศร์นี ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการทางเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมด้านการศึกษา คือทำอย่างไรถึงจะช่วยต่อยอดเด็กเยาวชนในกลุ่มหรือพื้นที่ที่มีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว ให้พัฒนาทักษะได้สุดทาง เรียนจบและมีงานในระดับสูง และในขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนเพิ่มเติมด้านการศึกษาให้กับกลุ่มหรือพื้นที่ที่ขาดแคลนโอกาส แทนที่จะลงทุนเท่ากันกับทุกกลุ่มหรือทุกพื้นที่ ก็ใช้วิธีเติมปัจจัยพื้นฐานให้กับกลุ่มหรือพื้นที่ที่ต้องการที่สุด เป็นการกระจายความเสมอภาคออกไปให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น
“ในด้านการลงทุนศึกษา กระทรวงการคลังจะดูเรื่องของประสิทธิภาพ เม็ดเงินที่ลงไปต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มได้ การออกแบบนโยบายด้านการศึกษาก็เช่นกัน ควรมีนโยบายการสร้างคุณค่าของการศึกษา หรือสร้างแรงจูงใจให้เด็กเข้าเรียน โดยค่อย ๆ ปรับพฤติกรรม หลักการคือกลุ่มเป้าหมายต้องมีอิสระทางความคิด สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ไม่เกิดจากการบังคับ ขณะที่รัฐอาจออกแบบนโยบายการแลกเปลี่ยน ระหว่างการเข้าเรียนกับรางวัลบางอย่าง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้อยากมาเรียน ไปจนถึงเมื่อเข้าเรียนครบทั้งสัปดาห์ หรือเรียนได้ตามเกณฑ์กำหนดในหนึ่งเทอมการศึกษา ก็อาจขยับไปให้รางวัลที่ใหญ่ขึ้น เหล่านี้เป็นการสร้างคุณค่าของการเรียนโดยไม่ต้องลงทุนในระดับโครงสร้าง และจะช่วยดึงเด็กเยาวชนไว้ในระบบได้มากยิ่งขึ้น”ดร.ยุทธภูมิ กล่าว