นายกฯกุดจิก เปิดพื้นที่สาธารณะ สะท้อนแก้ปัญหารถไฟ”ความเร็วสูง-รางคู่”เป็นตอม่อ
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.30 น. ดร.ภัทรพล บัญชาจารุรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดจิก ได้เปิดพื้นที่สาธารณะในการร่วมหาทางออกกับปัญหาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ กรณีรูปแบบการก่อสร้างจากคันดินเป็นการยกระดับแบบตอม่อ และชี้แจงความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างดังกล่าว
โดยมี นายกฤษณธร เลิศสำโรง นายอำเภอสูงเนิน พร้อมด้วย ปลัดอาวุโสอำเภอสูงเนิน
ปลัดอำเภอสูงเนิน นายสุวัฒน์ กันภูมิ หัวหน้าแผนกบริหารงานทั่วไป การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา นายวัธวุฒิ คลาดสูงเนิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดจิก ชาวบ้านกุดจิก ชาวตำบลโค้งยาง ร่วมประชุม ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
ดร.ภัทรพล บัญชาจารุรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลกุดจิก กล่าวว่าก่อนหน้านี้ที่ปรึกษาโครงการไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในระหว่างประชาพิจารณ์โครงการมีส่วนร่วมทั้งหมด เมื่อทราบรูปแบบที่ชัดเจนเป็นคันดินปิดเมือง
เหมือนถูกปิดกั้นความเจริญ กลายเป็นอ่างกระทะขนาดใหญ่รองรับมวลน้ำที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งคันดินสูงประมาณ 2 เมตร เปรียบเสมือนกำแพงกั้นไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัย เสมือนการแบ่งแยกชาวบ้านที่อยู่สองข้างทางรถไฟออกจากกัน ส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาพวกเราได้ตระเวนยื่นหนังสือร้องเรียนทุกหน่วยงาน รอเพียงผู้ใหญ่พิจารณาช่วยเหลือเป็นรูปธรรม ล่าสุด ได้ยื่นหนังสือขอคุ้มครองจากศาลปกครอง ระงับการก่อสร้างชั่วคราว
“ขอให้เป็นทางรถไฟยกระดับแบบตอม่อ ไม่เอาคันดิน และขอให้เร่งปรับปรุงถนน เพราะผลกระทบจากการก่อสร้าง ทำให้น้ำท่วมไร่นาชาวกุดจิก เดือดร้อน ปัญหาฝุ่น ถนนพัง” นายกฯ กล่าว
ด้าน นายสุวัฒน์ กันภูมิ หัวหน้าแผนกบริหารงานทั่วไป การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ก็จะส่งเข้าสู่กระบวนการ ใครพูดอะไร ต้องการอะไร ก็จะนําไปสู่ที่ประชุมจะได้หารือร่วมกัน ในเรื่องการก่อสร้างตามความเป็นจริง และความเป็นจริงในอนาคต ซึ่งทางพวกผมไม่ขัดข้องอะไร เพียงแต่วันนี้ต้องยอมรับ ท่านนายกฯ กุดจิก ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่ ถ้าทางศาลไม่ให้การคุ้มครองชั่วคราวก็คงจะระงับไม่ได้ แต่ถ้าศาลให้คุ้มครองชั่วคราวก็จะเป็นไปตามที่ผมเสนอไป
“เราต้องยอมรับตามกติกาของประเทศ ไม่งั้นสังคมก็จะเกิดความวุ่นวาย ผมทําหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ซึ่งได้มาควบคุมงานก่อสร้างตามสัญญาที่เซ็นจากการรถไฟ บริษัทควบคุมการก่อสร้างที่ปรึกษามาควบคุมตามการรถไฟ ทุกคนทำตามหน้าที่ พวกผมก็ทําตามหน้าที่ ท่านนายกฯก็ทําตามหน้าที่ ท่านนายอําเภอก็ทําหน้าที่ พี่น้องประชาชนก็ทำตามหน้าที่ ทุกคนทำตามหน้าที่มาช่วยกันระดมความคิด วันนี้แล้วออกมาเป็นบันทึกที่ประชุม แล้วเราก็นำมาเป็นข้อสรุปกันอีกครั้ง”นายสุวัฒน์ กล่าว
ด้านตัวแทนศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าประโยชน์ของโครงการเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อการก่อสร้างมีผลกระทบต่อชุมชนต่อชาวบ้านทางจังหวัดก็รับเรื่องมาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหา ซึ่งขบวนการนี้ ล่าสุด อยู่ระหว่างยื่นศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว
นอกจากนี้ แกนนำชาวบ้านได้ฝากหนังสือร้องเรียนผ่านตัวแทนศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนครราชสีมา ถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฯลฯ ขอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาทบทวนปรับรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ ช่วงตำบลกุดจิก จากคันดินเป็นตอม่อ และสะท้อนความเดือดร้อนหากทางรถไฟยังทำเป็นคันดิน